สรุปหนังสือเรื่อง Think Again คิดแล้ว, คิดอีก
By Adam Grant
Adam Grant เป็นนักเขียน และเป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาองค์กรที่ Wharton School University of Pennsylvania เป็นเจ้าของผลงานหนังสือขายดีติดอันดับของ The New York Time อย่าง Give and Take, Option B และ Power Moves ซึ่งมียอดขายมากกว่า 2 ล้านเล่ม ทั้งยังถูกแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ถึง 36 ภาษา นอกจากนี้เขายังเคยให้คำปรึกษาแก่องค์กรชั้นนำมากมาย เช่น กูเกิล เฟชบุ๊ก และองค์การสหประชาชาติ
เมื่อผู้คนคิดถึงคุณสมบัติที่จะทำให้มีสมรรถภาพทางความคิดที่ดี สิ่งแรกที่มักผุดขึ้นมาในหัวก็คือความฉลาด ยิ่งคุณฉลาดมากเท่าไหร่ก็ยิ่งแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้มากและเร็วขึ้นเท่านั้น เดิมทีมองว่าสติปัญญาคือ ความสามารถในการคิดและเรียนรู้ แต่ในโลกอันสับสนวุ่นวายนี้ยังมีทักษะอีกชุดหนึ่งที่อาจมีความสำคัญมากกว่านั่นคือ ความสามารถในการคิดทบทวนและละทิ้งความรู้เดิม สิ่งที่นับว่ายากยิ่งกว่าการเรียนรู้ก็คือ การเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ ในเรื่องที่ขัดแย้งกับชุดความเชื่อหรือความรู้ดั้งเดิมของเรา คนส่วนมากชอบที่จะยึดติดอยู่กับความคิด ความเชื่อ หรือความรู้ที่มีอยู่แล้ว และไม่ยอมไตร่ตรองอีกทีถึงแม้ว่าสิ่งพวกนั้นอาจจะไม่เวิร์คแล้วก็ตาม
อย่างเรื่องชาย 15 คนที่เป็นเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าในรัฐมอนแทนา ในเดือนสิงหาคม 1949 ที่ต้องต่อสู้กับไฟที่ลุกโชนสูงขึ้นไป 9 เมตรบนอากาศ จากต่อสู้กลายเป็นหลบหนีไฟ ดอดจ์สั่งให้ลูกทีมวิ่งหนีขึ้นเนินห่างออกไปเกือบ 450 เมตร เหลืออีกไม่ถึง 200 เมตรก็จะถึงสันเขา ดอดจ์เห็นไม่ทันการณ์แทนที่เขาจะวิ่งหนีเขากลับหยุดและย่อตัวลง หยิบกล่องไม้ขีดออกมาจุดแล้วทิ้งลงไปในพงหญ้า สร้างความงุนงงให้แก่ลูกทีม เขาโบกมือให้ลูกทีมตามเขาไปทางกองไฟของเขา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลูกทีมจะไม่ตามไป เป็นสิ่งที่เขาเหล่านั้นไม่ได้ตระหนักถึงกลยุทธ์การก่อไฟเพื่อการหลบหนี (escape fire) เอาชีวิตรอด เพราะเมื่อเผาหญ้าที่อยู่ตรงหน้าก็เท่ากับว่าเขาได้กำจัดเชื้อเพลิงสำหรับไฟป่าทิ้งไป
จากนั้นดอดจ์ก็เทน้ำจากกระติกลงบนผ้าเช็ดหน้า ใช้มันปิดปาก แล้วนอนคว่ำตรงบริเวณที่เขาเผาเกรียมไปแล้ว เขานอนอยู่ตลอดช่วง 15 นาทีขณะที่ไฟลุกโหมเหนือตัวเขา และรอดมาได้ด้วยก๊าชออกซิเจนที่ลอยต่ำอยู่ใกล้พื้นดิน สุดท้ายเหตุการณ์นั้นมีผู้เสียชีวิต 12 คน รอดชีวิตเพียง 3 คน สมรรถภาพทางร่างกายอาจเป็นปัจจัยหนึ่ง ผู้รอดชีวิตอีก 2 คนวิ่งหนีไปถึงสันเขาได้ทัน แต่ดอดจ์รอดชีวิตมาได้ด้วยสมรรถภาพทางความคิดของเขาเอง
การแก้ไขสถานการณ์แบบนี้ไม่เคยถูกสินในการฝึกผจญเพลิงเลย มันเป็นทักษะการเปลี่ยนความคิด (rethink) แบบฉับพลัน ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ และที่สำคัญจิตต้องแกร่งมาก เราทุกคนล้วนเคยทำผิดพลาดแบบเดียวกับเจ้าที่ดับไฟป่าเหล่านั้น แต่มันร้ายแรงน้อยกว่าจึงไม่ค่อยเป็นที่สังเกตเห็น วิธีคิดของเรากลายเป็นนิสัยที่ฉุดรั้งเราไว้ คุณค่าของการคิดทบทวน การใช้ความยืดหยุนทางความคิด การละทิ้งเครื่องมือไม่ใช่การเลิกทำสิ่งที่ทำเป็นประจำ ยังเป็นการเพิกเฉยต่อสัญชาตญาณเท่านั้น ยังหมายถึงการยอมรับความล้มเหลวและทิ้งตัวตนบางส่วนไปด้วย เครื่องมือก่อให้เกิดวิกฤติตัวตนนั่นคือ การที่เรายึดติดใน ความเชื่อ สัญชาตญาณ นิสัย และการมีความคิดเปิดกว้าง
ทักษะทางความคิดเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในยุคนี้ การเปลี่ยนความคิด (rethink) และการละทิ้งความรู้แบบเดิม (unlearn) ที่เป็นทักษะสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และความยืดหยุ่นของกระบวนการคิด ทักษะการคิดทบทวนยังเป็นหนทางที่จะนำพาสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งในปัจจุบัน ไปสู่สังคมแบบเปิดที่ยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง และส่งเสริมการเรียนรู้แบบตลอดชีวิต
สั่งซื้อหนังสือ “Think again คิดแล้วคิดอีก” ได้ที่นี่ : คลิ๊ก
ส่วนที่หนึ่ง การคิดทบทวนรายบุคคล ปรับเปลี่ยนมุมมองของเราให้เท่าทันปัจจุบัน
บทที่ 1 นักเทศน์ อัยการ นักการเมือง และนักวิทยาศาสตร์ ก้าวเข้าสู่ความคิดของคุณ
ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก ความรู้ต่าง ๆ ที่เคยรู้สมัยเด็ก ตอนนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ยิ่งทุกอย่างเปลี่ยนเร็วเท่าไร ทักษะการตั้งคำถามต่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อนั้นก็ยิ่งจำเป็น ความก้าวล่ำทางเทคโนโลยี และการเข้าถึงข้อมูลมีมากยิ่งขึ้น จึงส่งผลให้องค์ความรู้ของมนุษย์ชาตินั้นเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นในอัตราเร่ง
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งคำถาม กับความเชื่อที่ตัวเองยึดถือมานาน เพื่อการเปลี่ยนความคิด (rethink) และการทอดทิ้งความรู้แบบเดิม (unlearn) องค์ความรู้ให้ทันสมัยที่สุด แต่การคิดใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่มีมันสมองสุดขี้เกียจ ที่ชื่นชอบความรู้สึกว่าตัวเองถูก มากกว่าการรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองคิดนั้นถูกต้องแล้วจริง ๆ ยิ่งคนเก่ง ๆ ก็จะยิ่งมั่นใจในความฉลาดของตัวเองมาก ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการคนหนึ่งชื่อว่า ไมค์ ลาซาริดิส เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทแบล็กเบอร์รี่ ซึ่งในตอนนั้นเป็นผู้นำด้านโทรศัพท์มือถือ แต่เขาไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลง จนในที่สุดก็ไม่สามารถแข่งขันได้ จึงทำให้มูลค่าบริษัทลดลงประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งคนส่วนมากมีความภูมิใจกับความสามารถและความเชื่อของตัวเอง มันเป็นเรื่องที่ดีถ้าอยู่ในโลกที่มีความคงที่ แต่ตอนนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และความรู้ไม่ได้มีเพิ่มขึ้นอย่างเดียว แต่มันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วขึ้นอีกด้วย มันค่อนข้างจะง่าย ที่เราจะเห็นว่าคนอื่นควรจะเปลี่ยนความคิด แต่กับความคิดของตัวเองเรากลับไม่ทำ ศาสตราจารย์ ฟิล เท็ตล็อก ผู้เขียนหนังสือ Superforecasting ค้นพบว่าคนเราที่ใช้ความคิดและพูดคุย มักทัศนคติแบบคนที่ประกอบอาชีพแตกต่างกันมี 3 อาชีพคือ
นักเทศน์ เวลารู้สึกว่าความคิดของเรากำลังถูกโจมตี ก็จะใช้รูปแบบนักเทศน์ ที่กระบวนการคิดเชื่อมั่นว่าความเชื่อที่ตัวเองยึดถือนั้นคือความจริงสูงสุดที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และพร้อมปกป้องความเชื่อของตัวเองอย่างแรงกล้า เน้นการยกยอความเชื่อของตัวเอง ปกป้องสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่น
อัยการ เวลาเราเชื่อว่าความคิดของคนอื่นนั้นผิด เราจะใช้รูปแบบอัยการเพื่อพยายามพิสูจน์และเอาชนะ เป็นกระบวนการคิดที่พุ่งเป้าไปที่การหาข้อโต้แย้ง เพื่อล้มล้างและเอาชนะความคิดของผู้อื่น ดั่งทนายที่ชนะคดีด้วยการโจมตีจุดอ่อนของอีกฝ่าย เป็นเน้นการโจมตีความคิดเห็นของผู้อื่นที่ไม่ตรงกับตัวเอง
และนักการเมือง พอเวลาเราต้องการชักจูงให้คนอื่นมาอยู่ฝั่งเรา เราก็จะใช้รูปแบบนักการเมือง เป็นกระบวนการคิดที่พุ่งเป้าไปที่การหาเสียง ด้วยการทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผู้คนเชื่อ และอยู่ฝ่ายเดียวกันกับตัวเอง ดั่งเช่นนักการเมืองทั้งหลาย เน้นการโน้มน้าวให้คนอื่น ๆ เห็นชอบเหมือนตัวเอง
การคิดแบบทั้ง 3 นี้ไม่ได้เอื้อกับการเปลี่ยนความคิดเลย เพราะล้วนยึดอยู่กับอีโก้และความมั่นใจของตัวเองมากเกินไป ทำให้ตาบอดและไม่เปิดใจให้สิ่งใหม่ ๆ ที่อาจจะดีกว่าความเชื่อเดิม โดยในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน พวกเรามักจะเปลี่ยนกระบวนการคิด และเลือกใส่หมวกนักเทศน์ ทนายความ และนักการเมือง ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม แต่คนส่วนใหญ่มักลืมใส่หมวกอีกใบหนึ่ง ที่ถือเป็นหมวกที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยนี้อย่าง การคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ เป็นกระบวนการคิดที่ยึดมั่นในการตามหาความจริง ด้วยหลักการของเหตุผล มีความสงสัยใคร่รู้อยู่ตลอดเวลา และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนความคิดของตัวเองอย่างยืดหยุ่น ตามหลักฐานและองค์ความรู้ล่าสุด โดยไม่มีความลำเอียง
คนส่วนใหญ่มักพึ่งพิงความลำเอียงในกระบวนการคิด ซึ่งมี 3 ความลำเอียงทางความคิดที่เป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนความคิด คือ
- อคติเพื่อยืนยันความเชื่อ (Confirmation bias) ความลำเอียงเพื่อยืนยัน เป็นการที่เราจะเห็นแต่สิ่งที่เราคาดหวังว่าจะเห็น
- อคติตามความพอใจ (Desirability bias) ความลำเอียงกับความปรารถนา เป็นการที่เราจะเห็นแต่สิ่งที่เราต้องการจะเห็น
- ฉันไม่ได้มีอคติสักหน่อย (I’m not biased) เป็นความลำเอียงที่เราคิดว่าเราไม่ลำเอียง
อคติทั้ง 3 อย่างนี้ จะส่งเสริมความเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองมากเกินไป และติดอยู่ในวงจรความมั่นใจสูง จนไม่สามารถค้นพบสิ่งที่ไม่รู้ได้ ความลำเอียงที่เห็นเฉพาะความคิดที่ตัวเองคาดหวังไว้อยู่แล้ว (confirmation bias) โดยเมินเฉยต่อความคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อของตัวเอง จนนำมาสู่ปัญหาสังคม ที่ผู้คนเลือกรับข้อมูลเพียงข้างเดียวที่ตัวเองเชื่อเท่านั้น นักจิตวิทยาทั่วโลกต่างเห็นตรงกันว่า บุคคลที่สามารถเปลี่ยนความคิดได้ดีที่สุดก็คือตัวของตัวเอง
ดังนั้น จึงควรนำเอาหลักการคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ มายึดถือปฏิบัติในชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด โดยอาศัยหลักการสร้างวงจรการคิดใหม่ (rethinking cycle) ที่เริ่มต้นจากความรู้สึกถ่อมตัว (humility) ที่ยอมรับถึงความไม่รู้ของตัวเอง อันก่อให้เกิดความรู้สึกสงสัยใคร่รู้ (curiosity) ที่นำไปสู่การค้นคว้าหรือทำการทดลอง เพื่อค้นหาข้อเท็จจริง (discovery) อย่างเปิดใจ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนความคิดใหม่ ที่เกิดจากความรับผิดชอบของตัวเอง
ตัวอย่าง เรื่องราวความล้มเหลวของ Blackberry ที่ยึดมั่นกับความสำเร็จของคีย์บอร์ดของตัวเองจนไม่ยอมคิดใหม่ และพ่ายแพ้ต่อ iPhone ของ Apple ไปในที่สุด แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้เลยว่า iPhone เองก็เกือบไม่ได้ถือกำเนิดขึ้น เพราะ Steve Jobs นั้นก็เคยต่อต้านการทำโทรศัพท์มือถือแบรนด์ Apple มาอย่างยาวนาน และเคยประกาศว่าเขาจะไม่ทำโทรศัพท์โดยเด็ดขาด จากความเชื่อเดิมของเขาที่มีต่ออุตสาหกรรมโทรศัพท์แบบดั้งเดิม แต่โชคดีที่พนักงานของ Apple ยอมทุ่มเทเวลากว่า 6 เดือนในการศึกษาถึงโอกาส และสามารถเปลี่ยนความคิดของ Steve Jobs ได้ในที่สุด เรียกได้ว่าเทคโนโลยีแห่งยุคสมัยอย่าง iPhone นั้นเกิดขึ้นมาจากกระบวนการทบทวนความคิดอย่างแท้จริง
ความรู้มีด้านที่ต้องคำสาปนั่นคือ มันปิดกั้นความคิดต่อสิ่งที่เราไม่รู้ วิจารณญาณที่ดีขึ้นอยู่กับการมีทักษะและความมุ่งมั่นที่จะเปิดกว้างทางความคิด การคิดทบทวนเป็นนิสัยที่สำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในชีวิต แน่นอนว่าอาจคิดผิดก็ได้ แต่ถ้าคิดผิดก็ให้รีบกลับไปคิดทบทวนอีกครั้งเท่านั้น
บทที่ 2 คนที่คิดว่าตัวเองเก่ง กับคนที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง มองหาจุดลงตัวของความมั่นใจ
นักปราชญ์ชาวโรมันที่ชื่อว่า เซเนกา ได้เขียนบรรยายเกี่ยวกับผู้หญิงตาบอดคนหนึ่งที่เชื่อว่าเธอแค่อยู่ในห้องที่มืดมิด ทุกวันนี้อาการดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในแวดวงการแพทย์ในชื่อ แอนตันซินโดรม (Anton’s syndrome) หรือความบกพร่องของการตระหนักรู้ในตัวเอง แม้ว่าสมองยังทำงานปกติ แต่เราต่างก็มีจุดบอดในความรู้ และความคิดเห็นของตัวเอง จุดบอดนั้นอาจทำให้เรามองไม่เห็นจุดบอดของตัวเอง จึงทำมั่นใจในวิจารณญาณของตัวเองมากเกินไป และขัดขวางไม่ให้เกิดการคิดทบทวน เชื่อว่าหลายท่านคงเคยรู้จักคนที่มีความมั่นใจในเรื่องบางเรื่องมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่เขาแทบไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านั้นอย่างแท้จริงเลย
ตัวอย่างที่พบเห็นได้บ่อย ๆ ก็คือ แฟนกีฬาที่มักวิพากษ์วิจารณ์ทีมกีฬาอย่างเผ็ดร้อน ราวกับว่าถ้าตัวเองลงไปเป็นโค้ช หรือนักกีฬาเองแล้วจะทำผลงานได้ดีกว่า โดยหารู้ไม่ว่าการอยู่ในสนามกับการนั่งดูกีฬาผ่านโทรทัศน์ ที่ฉายภาพมุมสูงแบบสบาย ๆ บนโซฟานุ่ม ๆ ในบ้านนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ผู้เขียนเรียกกลุ่มคนที่มีความมั่นใจสูงกว่าความสามารถของตัวเองในลักษณะนี้ว่า armchair quarterback หรือแปลง่าย ๆ ว่า ยอดฝีมือบนเก้าอี้ ที่เต็มไปด้วยความมั่นใจแต่ไร้ซึ่งความสามารถ
ในอีกมุมหนึ่งโลกใบนี้ก็ยังมีคนอีกจำนวนมาก ที่ตกอยู่ในกลุ่มคนอีกประเภทที่มีความรู้ความสามารถในระดับสูง แต่กลับไม่มีความมั่นใจในความสามารถของตัวเอง ซึ่งอาการดังกล่าวนั้นถือเป็นอาการทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่เรียกว่า impostor syndrome หรือการรู้สึกว่าตัวเองคือ ตัวปลอม (impostor) ที่ไม่ได้เก่งในเรื่องนั้นจริง ๆ และไม่ควรได้รับการชื่นชมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่ามนุษย์หนึ่งคนนั้นสามารถมีความรู้สึกแบบ impostor syndrome ได้ในบางเรื่อง และมีความมั่นใจแบบสุดโต่งเกินความสามารถของตัวเองได้ในบางเรื่องเช่นเดียวกัน
การแยกออกระหว่างระดับความรู้ความสามารถ กับระดับความมั่นใจของมนุษย์นั้น ถูกอธิบายโดยปรากฎการณ์ Dunning-Kruger effect ที่แสดงถึงระดับความมั่นใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตามระดับขององค์ความรู้ในหัวข้อนั้น ๆ โดยมนุษย์ทั่วไปมักเริ่มต้นด้วยการไม่มีความมั่นใจ เมื่อตัวเองได้รู้จักกับองค์ความรู้ใหม่ ๆ เป็นครั้งแรก แต่เมื่อพวกเขาเริ่มมีความรู้มากขึ้น ความมั่นใจของพวกเขาต่อหัวข้อเหล่านั้น ก็จะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอาจทำให้พวกเขาหยุดพัฒนาความรู้ของตัวเองเพิ่มเติม และตกค้างอยู่บนยอดดอยอันโง่เขลา (mount stupid) ที่มีความมั่นใจเต็มเปี่ยมทั้ง ๆ ที่มีความรู้แบบงู ๆ ปลา ๆ เพียงเท่านั้น
เฉกเช่นเดียวกับเหล่า armchair quarterback ทั้งหลาย แต่ถ้าหากพวกเขารู้จักคิดทบทวน และยอมรับต่อความไม่รู้ของตัวเอง พวกเขาก็จะค้นพบว่าโลกใบนี้ยังมีองค์ความรู้อีกมากมาย ให้พวกเขาได้เรียนรู้จนสามารถพาตัวเอง ให้ออกจากยอดดอยแห่งความโง่เขลาได้สำเร็จ แต่การตระหนักถึงความไม่รู้ของตัวเอง ที่มีอยู่อย่างมหาศาลนั้น ก็มักส่งผลทำให้ระดับความมั่นใจของพวกเขานั้น ร่วงหล่นลงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่พวกเขาสามารถสะสมความรู้ได้มากพออย่างแท้จริงแล้ว เมื่อนั้นความมั่นใจในตัวเองของพวกเขาถึงค่อยกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง สรุปสั้น ๆ คือ คนรู้น้อยมักคิดว่าตัวเองเก่ง แต่คนรู้มากกลับคิดว่าตัวเองไม่เก่ง
ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองเป็น armchair quarterback และ imposter โดยไม่ได้ตั้งใจ ทุกคนจึงควรพัฒนาคุณสมบัติสำคัญที่ผู้เขียนเรียกว่า confident humility ที่เป็นการผสมผสานระหว่างการยอมรับในความไม่รู้ของตัวเอง กับความมั่นใจในความสามารถในการเรียนรู้ของตัวเอง ที่ช่วยผลักดันให้มนุษย์เลือกใส่หมวกของนักวิทยาศาสตร์ เพื่อค้นหาความจริงในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้อย่างมั่นใจ และเต็มไปด้วยความศรัทธาที่มีต่อตัวเอง แต่อย่างไรก็ตามการมีความรู้สึกแบบ impostor syndrome นั้นก็อาจเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดี ในการผลักดันให้มนุษย์ที่ไม่มั่นใจในองค์ความรู้ของตัวเอง มุ่งมั่นทำงานอย่างหนักมากขึ้นเพื่อพิสูจน์ตัวเอง และพัฒนาองค์ความรู้อย่างไม่รู้จบ
ส่วนการมีความมั่นใจที่สูงเกินพอดีนั้น ไม่มีประโยชน์ใด ๆ เลย ความทะนงตัวทำให้มองไม่เห็นจุดอ่อนของตัวเอง ความถ่อมตัวเปรียบเสมือนเลนส์สะท้อนซึ่งช่วยให้มองเห็นจุดอ่อนเหล่านั้นอย่างชัดเจน ส่วนความถ่อมตัวแบบมั่นใจถือเป็นเลนส์แก้สายตา เพราะช่วยให้สามารถเอาชนะจุดอ่อนเหล่านั้นได้
บทที่ 3 ความสุขใจจากการคิดผิด ความเร้าใจจากการไม่เชื่อทุกสิ่งที่คุณคิด
ในปี 1959 นักจิตวิทยาชื่อ เฮนรี เมอร์เรย์ ได้ทำการค้นคว้าว่าบุคลิกลักษณะเกิดขึ้นได้อย่างไร และปัญหาทางจิตได้รับการแก้ไขอย่างไร โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเขียนเล่าปรัชญาชีวิต รวมถึงค่านิยมและหลักการใช้ชี้นำชีวิต เมื่อส่งงานพวกเขาจะถูกจับคู่ แล้วให้มาถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยจะถูกบันทึกวิดีโอไว้ด้วย ประสบการณ์นี้จะดุเดือดยิ่งกว่าที่พวกเขาคิดไว้มาก เมอร์เรย์ใช้การประเมินทางจิตที่เขาพัฒนาขึ้นมาสำหรับคิดเลือกเจ้าหน้าที่สายลับ เป็นต้นแบบของการศึกษา เพื่อประเมินว่าผู้ร่วมทดลองจะรับมือกับแรงกดดันอย่างไร
เมื่อผู้ทดลองเข้าร่วมการถกเถียง พวกเขากลับพบว่าคู่ของเขาไม่ใช่เพื่อน แต่เป็นนักศึกษากฎหมาย และสิ่งที่พวกเขาต้องทำคือการโจมตีโลกทัศน์ของผู้เข้าร่วมการทดลองอย่างรุนแรง เมอร์เรย์เรียกสิ่งนี้ว่า การทะเลาะวิวาทอย่างตึงเครียดระหว่างบุคคล ทำให้ผู้เข้าร่วมทดลองบางคนเหงื่อแตก ตะโกนเสียงดังด้วยความโกรธ ผิดหวัง และไม่สบายใจ บางคนบอกว่าตื่นเต้นเมื่อถูกบังคับให้ทบทวนความเชื่อของตัวเอง บางคนไม่น่าจะใช่ประสบการณ์ที่ทำร้ายจิตใจได้ บางคนก็บอกว่ามันน่าพึงพอใจ สนุกดี แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้นไปได้
ที่บางคนมักรู้สึกตื่นเต้นและสนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่มีความน่าสนใจและยอมปรับเปลี่ยนองค์ความรู้ของตัวเองทันที หากข้อมูลที่น่าสนใจเหล่านั้นน่าเชื่อถือกว่าองค์ความรู้เดิม ที่ตัวเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมากเท่าไหร่ เช่น ถ้ามีคนบอกว่างาของวาฬนาร์วาลคือ ฟันซี่เดียวของมัน ถ้าน่าสนใจดีแล้วก็คงเปลี่ยนองค์ความรู้ของตัวเองได้ในทันที แต่ในทางกลับกัน หากมนุษย์ต้องพบเจอกับข้อโต้แย้งที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ และความเชื่อที่ถูกยึดถืออย่างแนบแน่นจนกลายเป็นตัวตนของตัวเองแล้ว พวกเขามักจะหยิบหมวกของนักเทศน์ และทนายความขึ้นมาใส่ เพื่อยืนกรานปกป้องความเชื่อของตัวเอง และหาข้อโต้แย้งให้อีกฝ่ายพ่ายแพ้อย่างเผ็ดร้อน
การยึดมั่นต่อชุดความเชื่อของตัวเองอย่างสนิทใจนั้น คือศัตรูตัวฉกาจของกระบวนการเปลี่ยนความคิดและการละทิ้งความรู้เดิม ที่ทำให้มนุษย์ไม่ยอมหยิบหมวกนักวิทยาศาสตร์ออกมาใส่ เพื่อออกตามหาความจริง ดังนั้น พวกเราทุกคนจึงควรละทิ้งการยึดติด (detach) กับความเชื่อและอุดมการณ์ ที่เป็นเพียงความคิดเห็นที่เปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาของตัวเอง และหันมายึดมั่นกับคุณค่า (value) ที่เหนือกาลเวลาแทน เพื่อสร้างกระบวนการคิดที่พร้อมต่อการคิดทบทวนอยู่ตลอดเวลา เพื่อเดินทางไปให้ถึงคุณค่าแท้จริงที่ตัวเองยึดถือ ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารบริษัทที่ยึดมั่นในความยอดเยี่ยม ก็จะขยันขวนขวายหาความรู้มาพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา และพร้อมละทิ้งหลักการบริหารแบบเดิม ๆ ที่ไม่ได้ผลแล้วในทันที ตรงกันข้ามกับผู้บริหารที่เชื่อมั่นในวิธีการแบบเดิมที่เคยสำเร็จในอดีต และไม่ยอมตั้งคำถามว่าหลักการเหล่านั้นยังสมเหตุสมผลอยู่หรือเปล่าในยุคปัจจุบัน
การเปลี่ยนความเชื่อของมนุษย์ในแต่ละครั้งนั้น ต้องเริ่มต้นจากการยอมรับว่าความคิดเดิมของตัวเองนั้นผิดเสียก่อนเสมอ ซึ่งถึงแม้ว่าการยอมรับในความผิดพลาดของตัวเองนั้น เป็นสิ่งที่น่าอึดอัดและทำได้ยากยิ่ง แต่การค้นพบความผิดพลาดนั้น ก็ทำให้เดินทางเข้าไปใกล้กับความจริงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ทุกคนจึงควรมองการเรียนรู้ถึงความผิดพลาด เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเดินทางไปสู่ความจริงปลายทาง และจงยินดีทุกครั้งที่ได้มีโอกาสรับรู้ว่า ความคิดของตัวเองนั้นไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกับวิธีคิดของเหล่านักพยากรณ์มืออาชีพ ที่มักยินดีทุกครั้งที่พวกเขาค้นพบว่า ข้อสันนิษฐานของพวกเขานั้นผิด และพร้อมที่จะอัพเดทผลการพยากรณ์อย่างสม่ำเสมอ เมื่อพวกเขาได้เรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ เพราะเป้าหมายของนักพยากรณ์เหล่านั้น อยู่ที่การพยากรณ์ผลปลายทางให้แม่นยำมากที่สุด ไม่ใช่การปรับแก้ผลการพยากรณ์ระหว่างทางให้น้อยที่สุด
สิ่งนี้นำเราย้อนกลับไปสู่การศึกษาของเฮนรี่ เมอร์เรย์ คนที่เพลิดเพลินกับประสบการณ์นั้นจะมีทัศนคติที่คล้ายกับนักวิทยาศาสตร์และสุดยอดนักพยากรณ์ ส่วนพวกที่มองว่าถูกท้าทาย เครียด ไม่รู้จักวิธีแยกความคิดออกจากตัวตน ทำให้จอมเผด็จการภายในใจรีบออกมาปกป้องพวกเขาไว้ ตัวอย่าง ผู้ทดลองชื่อรหัสว่าลอร์ฟูล เขารู้สึกว่าได้รับความเสียหายทางจิตใจจากการศึกษาครั้งนั้น อีกสี่ทศวรรษต่อมาเขามีรหัสที่รู้จักกันในชื่อ ยูนาบอมเบอร์ (Unabomber) เป็นชื่อที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่คุ้นเคย เขามีชื่อจริงว่า เท็ด คาซินสกี เป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัย แล้วผันตัวเองเป็นผู้ฝักใฝ่ลัทธิอนาธิปโตย และผู้ก่อการร้ายในประเทศ เขาส่งระเบิดทางไปรษณีย์ซึ่งทำให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บอีก 23 ราย ใช้เวลา 18 ปีนำไปสู่การจับกุม ถูกพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการลดโทษ
ทุกครั้งที่เราพบเจอข้อมูลใหม่เรามีทางเลือก เราสามารถเอาความคิดเห็นไปผูกติดกับตัวตนของเรา แล้วยืนหยัดดื้อรั้นกับการเทศนาและการฟ้องร้องต่อไป หรือเราจะทำตัวเหมือนนักวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งมั่นอยู่กับการแสวงหาความจริง แม้นั่นจะเป็นการที่พิสูจน์ว่าความคิดเห็นของตัวเองผิดก็ตาม
บทที่ 4 ชมรมการทะเลาะเชิงสร้างสรรค์ จิตวิทยาของความขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์
ความขัดแย้งเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทุก ๆ ที่ ในที่ทำงานก็เหมือนกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าทุกความขัดแย้งจะส่งผลร้ายไปหมด งานศึกษาพบเจอว่าความขัดแย้งมี 2 ประเภท คือ 1.ความขัดแย้งด้านการงาน (task conflict) 2. ความขัดแย้งส่วนตัว (relationship conflict)
ในที่ทำงานนั้น ความขัดแย้งที่น่ากลัวคือความขัดแย้งส่วนตัว เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และอารมณ์ล้วน ๆ ยิ่งมีความขัดแย้งประเภทนี้เยอะ ทีมจะทำผลงานได้ไม่ดีเท่าไร ลองนึกภาพว่าเราต้องทำงานร่วมกับคนที่เราไม่ชอบ ต่างฝ่ายต่างเหน็บแนมนิสัยส่วนตัวกัน ก็ไม่โอเคแล้ว
อีกความขัดแย้งคือด้านการงาน อันนี้ยิ่งมีเยอะยิ่งดี เพราะนั่นหมายความว่ามีไอเดียที่หลากหลายมาปะทะกัน ยิ่งท้าให้เราต้องคิดใหม่เรื่อย ๆ (Rethink) แต่อันนี้ก็ต้องระวังในการโต้เถียงเหมือนกัน
หลักการในการโต้เถียงที่ถูกวิธีนั้น ควรจะต้องให้ความสนใจเฉพาะ การโต้เถียงที่เกี่ยวกับงาน โดยพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องราวที่เป็นเรื่องส่วนตัวหรือความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันให้มากที่สุด โดยเทคนิคที่มักใช้ได้ผลในการสร้างบรรยากาศ ของการโต้เถียงกันด้วยเหตุผลแบบนักวิทยาศาสตร์นั้นก็คือ การตีกรอบ (framing) บทสนทนาเหล่านั้นให้เป็นดั่งการ โต้วาที (debate) ที่แต่ละฝ่ายควรงัดเอาเหตุผลและหลักฐานมาพูดคุยกัน โดยปราศจากอารมณ์ให้ได้มากที่สุด โดยคู่สนทนาทั้งสองฝ่ายควรพูดคุยกันด้วย how (อย่างไร) ที่ชวนให้คิดถึงกระบวนการและเหตุผลมากกว่าการพูดคุยกันด้วย why (ทำไม) ที่มักเต็มไปด้วยความคิดเห็นที่ลำเอียง
การสนทนากับบุคคลที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกับเรานั้น มักนำพาไปสู่การเรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ ย่อมดีกว่าการเลือกสนทนาแค่กับบุคคล ที่มักเออออตามความคิดของเราอยู่เสมอ ซึ่งไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรเพิ่มเติมเลย ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจึงควรให้ความสำคัญ กับการพูดคุยกับบุคคลที่เห็นต่างจากเรา เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา และหัดสร้างทักษะแห่งการโต้เถียงในเชิงบวก เพื่อสร้างวงสนทนาที่ท้าทายองค์ความรู้ระหว่างกันและกันอย่างสม่ำเสมอ หรือถ้าเป็นคนที่ไม่ชอบโต้เถียงกับคนอื่นจริง ๆ ก็ขอให้หาเพื่อนร่วมทีมที่ชอบโต้เถียงด้วยเหตุผลอยู่เสมอ เพื่อช่วยให้คุณกล้าออกความคิดเห็นมากขึ้น
ซึ่งการที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งด้านการงานได้นั้น ทีมจะต้องประกอบไปด้วยคนที่เห็นต่าง คนที่กล้าออกความเห็นตรงกันข้าม เพราะถ้ามีแต่คนใจอ่อน เอาอกเอาใจกัน งานก็ไม่ไปไหน ไม่ได้เห็นมุมที่ต่างออกไป การดึงคนหัวแข็งเข้ามาอาจจะทำให้การทำงานยากขึ้น แต่จะยิ่งช่วยเกลาไอเดียให้คมยิ่งขึ้น เพราะพวกเขาจะเห็นมุมที่เรามองไม่เห็น แถมคนกลุ่มนี้ยังช่วยสร้างบรรยากาศ ให้คนที่ไม่กล้าออกความเห็นลุกขึ้นมาบอกกล่าวไอเดียตัวเองด้วย
ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ว่าคนเห็นต่างจะอยู่รอดเสมอไป ถ้าเจอองค์กรแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative) คนเห็นต่างก็อาจจะโดนเขม่นเหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องมีวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนด้วย คือ ต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาแสดงความคิดเห็นโดยไม่มีการกีดกั้น และที่สำคัญคือความสัมพันธ์ของคนในทีมอาจจะต้องแข็งแกร่งด้วย
ตัวอย่างพี่น้องตระกูลไรต์ ที่พวกเขาสามารถจัดการปัญหาเรื่องใบพัดด้วยแนวทางการคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ ทำให้คิดค้นวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีขึ้นได้ และยังเปิดกว้างต่อการคิดทบทวน เครื่องบินของพวกเขาไม่จำเป็นต้องมีใบพัดแค่หนึ่งอัน แต่อาจมีใบพัดสองอันที่หมุนในทิศทางตรงกันข้าม เพื่อทำหน้าที่เหมือนปีกหมุน นี่คือความสวยงามของความขัดแย้ง แต่เป็นผู้สนับสนุน เมื่อพี่น้องตระกูลไรต์มีใบพัดสองอันหมุนในทิศทางที่แตกต่างกัน ความคิดของเราก็จะไม่ถูกยึดไว้กับพื้นมันจะพุ่งทะยานขึ้นไปอย่างแน่นอน
ส่วนที่สอง การคิดทบทวนระหว่างบุคคล เปิดความคิดของคนอื่น
บทที่ 5 เต้นรำกับศัตรู วิธีเอาชนะการถกเถียงและโน้มน้าวคนอื่น
ในปี 2018 แชมป์โต้วาที Harish Natarajan ได้โต้วาทีกับ AI ที่ชื่อว่า Project Debater ขณะที่เขาอายุได้ 31 ปี ชนะการแข่งขันโต้วาทีระดับสากลมาแล้ว 36 รายการ มีคนบอกเขาว่ามันคือสถิติโลก AI สามารถนำเหตุผลและหลักฐานมาจาก database ทั่วโลก แต่เป็น Harish ที่ทำให้ผู้ชมเปลี่ยนใจได้มากกว่า
มนุษย์ส่วนใหญ่มักเปรียบการโต้เถียงเป็นดั่งสงคราม ที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องงัดอาวุธทางความคิดที่ดีที่สุด มาโจมตีฝ่ายตรงข้ามอย่างเบ็ดเสร็จ เป็นข้อผิดพลาดในการโน้มน้าวคนอื่นคือคิดว่าเป็นการต่อสู้และต้องเอาชนะ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว การใช้เหตุผลที่เหนือกว่าฝ่ายตรงข้ามนั้น อาจทำให้ชนะการโต้วาทีกับคนที่มีความคิดเห็นต่างได้ แต่มันไม่มีทางเลยที่คุณจะสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของพวกเขาเหล่านั้น เมื่อวัตถุประสงค์ของการโต้เถียงกันนั้นก็คือ เพื่อเปลี่ยนความคิดของผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน พวกเราจึงไม่ควรมองการโต้เถียงเป็นสงคราม แต่ควรมองมันเป็นเหมือนการเต้นรำ ที่ต่างฝ่ายต่างก็พยายามปรับท่วงท่าการเคลื่อนไหว ให้เป็นไปตามจังหวะของกันและกัน โดยไม่ชี้นำอีกฝ่ายมากจนเกินไป
เทคนิคในการเต้นรับกับคนที่เห็นต่าง เพื่อชักชวนให้ฝ่ายตรงข้ามหยิบหมวกนักวิทยาศาสตร์ขึ้นมาสวมใส่ ให้พร้อมค้นหาข้อเท็จจริงไปพร้อม ๆ กับเรานั้นมีดังต่อไปนี้
การมองหาจุดร่วม (common ground) ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องเพื่อสร้างบรรยากาศการโต้เถียงกันแบบนักวิทยาศาสตร์ และส่งสัญญาณว่าเรามีความเข้าอกเข้าใจในความคิดของฝ่ายตรงข้าม เพียงแต่ว่าเราก็มีความเห็นต่างในประเด็นอื่น ๆ อยู่เช่นกัน เช่น การโต้วาทีเรื่องงบประมาณของภาครัฐที่ให้กับโรงเรียนอนุบาลในสหรัฐอเมริกา ถ้าฝ่ายสนับสนุนชี้ให้เห็นว่าโรงเรียนอนุบาลนั้น ช่วยสร้างรากฐานสำคัญให้กับเด็กทุกคน ฝ่ายค้านก็ควรจะเห็นด้วยกับหัวข้อนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะเห็นด้วย แต่ฝ่ายค้านเองก็สามารถตั้งคำถามชวนคิดเพิ่มเติมต่อได้ อาทิ แต่เด็กทุกคนโดยเฉพาะเด็กที่ยากจนนั้น ไม่สามารถเข้าถึงโรงเรียนอนุบาลได้ การแบ่งงบประมาณของโรงเรียน ไปช่วยพวกเขาในด้านอื่น ๆ อาจเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพกว่าก็ได้
การเลือกใช้เหตุผลที่ดีเพียง 2-3 เหตุผลก็พอ (less is often more) ในการโต้เถียงแทนที่จะระดมยิงเหตุผลเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนแนวคิดของเรา ทั้งนี้ก็เพราะว่าคู่สนทนาที่ใส่หมวกทนายความ มักจะโจมตีเหตุผลที่อ่อนแอที่สุดเป็นหลัก และการมีเหตุผลที่อ่อนแอมาก ๆ นั้นมักทำให้เหตุผลที่ดี ๆ ของเราถูกด้อยความสำคัญลง ดังนั้น เราจึงควรคัดเลือกเหตุผลที่แข็งแกร่งจริง ๆ ที่สร้างความน่าเชื่อถือได้มาก ๆ เพียงไม่กี่ข้อเท่านั้นพอ
การตั้งคำถามเพื่อชวนคิดต่อ แทนที่การพูดถึงแต่เหตุผลที่สนับสนุนแนวคิดของเรา หรือการโจมตีเหตุผลของฝ่ายตรงข้ามเพียงอย่างเดียว เพื่อเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้มีโอกาส หยิบหมวกนักวิทยาศาสตร์ขึ้นมาตั้งคำถามกับตัวเอง โดยคำถามที่ควรจะถามนั้น ต้องเป็นคำถามที่ทำให้อีกฝ่ายคิดก่อนตอบ และตั้งคำถามถึงโอกาสในการผิดพลาดของตัวเองเสมอ บางครั้งอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนใจใครได้ทันที แต่ถ้าตั้งคำถามที่ถูกต้องแล้ว อาจจะทำให้เขาเริ่มเกิดความสงสัย และไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ก็อาจจะเปลี่ยนใจเองในที่สุด
แต่บางครั้ง ถึงจะทำยังไงก็ตาม อีกฝ่ายก็ไม่อยากจะเปิดใจ ถ้าหากเราเปิดความรู้สึกของตัวเอง ก็อาจจะสามารถค้นหาความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ และอาจจะช่วยได้ในข้อนี้ ที่สำคัญไม่ควรโจมตีเรื่องส่วนตัวอย่างเด็ดขาด แต่ถ้าสุดท้ายแล้ว ถ้ารู้สึกว่ายังไงก็ไปต่อไม่ได้ ก็ควรยุติโต้เถียงกันจะดีกว่า
บทที่ 6 เรื่องบาดหมางบนสนามเบสบอล ลดอคติด้วยการทำลายทัศนคติเหมารวม
หนึ่งในปัญหาใหญ่ระดับโลกของมนุษย์เลยก็คือ “การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย” ตามความเชื่อที่สั่งสมกันมาพร้อมๆกับการกำหนดการเหมารวมเชิงอัตลักษณ์ (stereotype) เพื่อแยกพวกเราออกจากพวกมัน ที่มีความคิดและค่านิยมที่แตกต่างกับพวกเรา ซึ่งปัญหาเหล่านี้นั้นมีตั้งแต่ การเกลียดชังกันระหว่างทีมกีฬา การทะเลาะกันระหว่างขั้วการเมือง การเหยียดสีผิวและการขัดแย้งของคนระหว่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่คนทั้งสองฝ่ายนั้นมีความเหมือนกันมากกว่าความแตกต่างอีกมาก นักจิตวิทยาพิสูจน์แล้วว่ามนุษย์มักโต้เถียงกับฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรงที่สุดเมื่อพวกเขารู้ลึก ๆ ในใจว่าความเชื่อของพวกเขานั้นผิด
โดยผู้เขียนได้พยายามทดลองแนวทาง ในการเปลี่ยนความคิดของคนที่มีต่อศัตรูขั้วตรงข้ามหลากหลายวิธี โดยวิธีการที่ดีที่สุดนั้นก็เหมือนกับเทคนิคในบทก่อนหน้า นั่นก็คือ การมองหาจุดร่วมไปพร้อม ๆ กับการตั้งคำถามที่ชวนให้คิดถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย และทบทวนว่าหลักเกณ์ในการตั้งข้อกำหนดการเหมารวมเชิงอัตลักษณ์ (stereotype) ของพวกเขานั้น มันสมเหตุสมผลแล้วจริงหรือ เช่น การถามหาเหตุผลหรือหลักฐาน ที่จะสามารถทำให้พวกเขาเปลี่ยนความคิดเห็นได้ เพื่อกระตุ้นให้ฝ่ายตรงข้ามทบทวนความเชื่อของตัวเอง และมองหาความเป็นไปได้ว่าตัวเองคิดผิด หรือ การถามถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเขาเชื่อมั่นในความคิดเหล่านั้น และตั้งคำถามถึงความสมเหตุสมผล ในการเกลียดชังอีกฝ่ายจากจุดเริ่มต้นดังกล่าว
ในวงการเบสบอลมี 2 ทีมที่เป็นคู่อริกันมากที่สุดคือ New York Yankees และ Boston Red Sox
แฟน ๆ ของทั้งสองทีมก็ไม่ชอบกันและกัน และก็กล่าวหาว่าแฟน ๆ ของอีกฝ่ายไม่ดีต่าง ๆ นานา แน่นอนว่าไม่ใช่ในด้านเบสบอล หรือด้านกีฬาอย่างเดียว สิ่งเดียวกันก็เกิดขึ้นในด้านธุรกิจ การเมือง การงาน และเรื่องส่วนตัว การที่เราตัดสินว่าอีกฝ่ายที่เราไม่ชอบ ว่ามีลักษณะอย่างไร มันจะเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนความคิด แล้วเราต้องทำอย่างไร เพื่อจะก้าวข้ามมันได้
ผู้เขียนพยายามหาวิธีเปลี่ยนความคิด และดูเหมือนว่า ถ้าให้ 2 กลุ่มที่ไม่ชอบกันเห็นว่าเหตุผลเบื้องหลังเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ อาจจะทำให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มเปิดใจที่จะเปลี่ยนความคิดก็ได้
ตัวอย่าง New York Yankees และ Boston Red Sox แฟน ๆ ทั้งสองฝ่ายไม่ชอบกันเพราะเรื่องที่เกิดขึ้นร้อยปีที่แล้ว เกิดจากผู้เล่นชื่อว่า Babe Ruth ที่ย้ายทีม แต่จะให้เหตุผลว่าความเชื่อของพวกเขามาจากความคิดที่ไม่สมเหตุสมผลอาจจะไม่พอ
อีกหนึ่งวิธีคือต้องช่วยให้พวกเขาลองจินตนาการความเป็นไปได้ข้างเคียงมีการตั้งคำถามต่อแฟนเบสบอลของทีม Boston Red Sox ที่มักเป็นชาวเมือง Boston ว่าถ้าหากคุณเกิดที่มหานครนิวยอร์ค ครอบครัวของคุณก็จะเป็นแฟนกีฬาของทีม New York Yankees แน่นอน ถ้าเป็นแบบนั้นยังจะรู้สึกรังเกียจแฟนเบสบอลของทีม New York Yankees อยู่จริง ๆ วิธีนี้จะช่วยทำให้พวกเขาไตร่ตรองความคิดของตัวเอง และอาจจะทำให้เปลี่ยนใจได้ ซึ่งไม่แน่ว่านี่อาจจะเป็นขั้นตอนแรก ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสำหรับคนสองกลุ่ม ที่มีความเกลียดชังกันมายาวนาน
นอกจากนั้นแล้ว การนัดให้คนที่เห็นต่างทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยกันตัวเป็น ๆ แบบเปิดอกด้วยเหตุและผลก็มีส่วนช่วยลดปัญหาการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายนี้ได้เช่นกัน แต่ในหลายครั้ง แต่ละฝ่ายมักจะมองคนฝ่ายตรงข้ามที่ตัวเองมีโอกาสได้คุยด้วย เป็นเหมือนข้อยกเว้นที่ไม่เหมือนกับคนในขั้วตรงข้ามส่วนใหญ่อยู่ดี
บทที่ 7 ผู้หยั่งรู้เรื่องวัคซีนและนักสอบปากคำผู้ละมุนละม่อม
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศตะวันตกมีปัญหาเรื่องการฉีดวัคซีน ประชากรมีความเชื่อมั่นในวัคซีนน้อยลง อาจจะเป็นเพราะได้ข้อมูลที่ผิด หรืออะไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้คือโรคที่ไม่ควรระบาดแล้ว กลับมาระบาดอีกทีโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ยกตัวอย่างเช่น โรคหัดหรือว่า measles ที่ผู้ปกครองบางท่านยิ่งได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีน ยิ่งทำให้กลัวขึ้นและต่อต้านวัคซีนขึ้นอีก
ไม่น่าเชื่อว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกานั้นจะมีกลุ่มประชาชนจำนวนมากที่ต่อต้านการฉีดวัคซีน (anti-vaxxer) จากความเชื่อกึ่งทฤษฎีสมคบคิดที่ส่งต่อกันมาจนทำให้โรคติดต่ออย่างโรคหัดที่โลกเคยกำราบได้เกือบสูญสิ้นแล้วกลับมาเติบโตอีกครั้งจากการที่พ่อแม่จำนวนไม่ยอมให้ลูกของตัวเองฉีดวัคซีน ความพยายามในการให้ความรู้หรือบีบบังคับกลุ่มพ่อแม่เหล่านั้นให้ยอมให้ลูกของพวกเขาได้รับวัคซีนนั้นล้วนไม่เป็นผล การใส่หมวกเป็นพระนักเทศน์และทนายความนั้นมีแต่จะทำให้กลุ่ม anti-vaxxer รู้สึกโกรธที่โดนสั่งสอนหรือเหยียมหยามและต่อต้านการฉีดวัคซีนมากขึ้นเรื่อย ๆ
แต่ก็โชคดีที่ระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาเริ่มมองเห็นวิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิผลเป็นอย่างดีด้วยการส่งผู้เชี่ยวชาญในการเปลี่ยนความคิดของกลุ่ม anti-vaxxer ที่มีชื่อเรียกว่า vaccine whisperer เข้าไปพูดคุยกับคนกลุ่มนั้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการเชิญชวนให้พ่อแม่ anti-vaxxer ทบทวนความเชื่อของตัวเองโดยไม่ยัดเยียดข้อมูลใด ๆ ผ่านการรับฟังอย่างตั้งใจ เพื่อเข้าใจมุมมองของพวกเขาโดยไม่มีอคติก่อนที่จะตั้งคำถามปลายเปิดเพื่อกระตุ้นให้กลุ่ม anti-vaxxer หยิบหมวกนักวิทยาศาสตร์มาสวมใส่ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นถึงค่อยหาจังหวะ ขอโอกาสในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีน และปิดท้ายด้วยการเปิดให้พ่อแม่เหล่านั้น เป็นคนตัดสินใจเลือกให้ลูกไปฉีดวัคซีนด้วยตัวเอง เมื่อพวกเขาเข้าใจถึงข้อเท็จจริงของการฉีดวัคซีนมากยิ่งขึ้น พวกเขาก็จะมีความเป็นเจ้าของ (ownership) ของความคิดใหม่ของตัวเอง และช่วยเผยแพร่วิธีคิดเหล่านั้นต่อให้กับคนอื่น ๆ ศาสตร์ในการเปลี่ยนความคิดผ่านบทสนทนาในลักษณะนี้เรียกว่า motivational interviewing
การสัมภาษณ์จูงใจ เริ่มต้นจากการถ่อมตน เพราะเราไม่รู้เหตุผลเบื้องหลังว่าทำไมอีกฝ่ายคิดแบบที่เขาคิด ซึ่งเราต้องการค้นพบ
ขั้นตอนหลักของ Motivational Interviewing คือ
1.ถามคำถามปลายเปิด
2.ฟังแบบสะท้อนกลับ คือการที่เราสามารถสรุปสิ่งที่อีกฝ่ายพูดกลับไปได้
3.ให้ความมั่นใจว่าอีกฝ่ายสามารถเปลี่ยนแปลงได้
ใน Motivational Interviewing นี้ ก็ยังมีอีกสองส่วนสำคัญด้วยกัน คือ
1.Sustain Talk คือ การพูดคุยที่พยายามประคองสถานภาพปัจจุบันไว้ (Status Quo)
2.Change Talk คือ การพูดคุยที่เริ่มมีการระบุถึงความต้องการในการเปลี่ยนแปลง เมื่ออีกฝ่ายสามารถระบุตรงนี้ได้ เราก็จะรู้แล้วว่าอะไรที่จะทำให้เค้าเปลี่ยนใจ ถือได้ว่าบทสนทนามีความคืบหน้า
สุดท้ายแล้ว การปิดบทสนทนาด้วยการสรุปใจความ (Summarizing) ก็เป็นการช่วยให้อีกฝ่ายเห็นว่าเราเข้าใจทุกสิ่งอย่างที่คุยกันเป็นยังไง มีอะไรขาดตกบกพร่องมั้ย และขั้นตอนต่อไปของอีกฝ่ายจะเป็นยังไง เป็นเหมือนแนวปฏิบัติ (guideline) ที่อีกฝ่ายสามารถนำไปใช้งานได้จริง ที่สำคัญเลยคือ การพูดคุยเหล่านี้ต้องเป็นไปอย่างจริงใจ อย่าพยายามหลอกหรือโน้มน้าวอีกฝ่าย เพราะเมื่ออีกฝ่ายรู้ว่าตัวเองกำลังจะถูกชักจูง ก็จะมีอาการต่อต้าน และจะไม่ฟังอะไรก็ตามที่เรานำเสนอ แม้ว่ามันจะเต็มไปด้วยข้อมูลและข้อเท็จจริงที่พิสูจน์มาแล้วก็ตาม
ดังนั้น นอกจากความพยายามสร้างบทสนทนาระหว่างนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันเองแล้ว การรับฟังอย่างตั้งใจ และการให้อิสรภาพในการตัดสินใจโดยไม่ยัดเยียดให้แก่คู่สนทนานั้น ยังถือเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบ ที่ช่วยลดแรงต้านทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พลังของการรับฟังไม่ได้อยู่ท่การเปิดพื้นทีให้ผู้คนได้ไตร่ตรองเกี่ยวกับมุมมองของตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงความเคารพ และความห่วงใยอีกด้วย
ส่วนที่สาม การคิดทบทวนเป็นกลุ่ม สร้างชุมชนของนักเรียนรู้ตลอดชีวิต
บทที่ 8 การสนทนาแบบกระตุ้นอารมณ์ กำจัดการแบ่งขั้วของการโต้แย้งที่ก่อให้เกิดความแตกแยก
งานวิจัยของห้องปฏิบัติการทดสอบบทสนทนายาก ๆ (Difficult Conversation Labs) ของมหาวิทยาลัย Columbia ค้นพบว่าการทำให้ผู้คนตระหนักถึงความซับซ้อน ของข้อถกเถียงต่าง ๆ ที่มักมีทั้งข้อดี ข้อเสียและข้อที่ยังสรุปไม่ได้อย่างชัดเจนนั้น มีส่วนช่วยให้ผู้คนที่อยู่ขั้วตรงข้ามกันนั้นสามารถหยิบหมวกนักวิทยาศาสตร์ขึ้นมาใส่ เพื่อพูดคุยถกเถียงกันด้วยเหตุผลและตกลงประนีประนอมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกันข้าม การอวยเหตุผลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแบบสุดโต่งนั้น มีแต่จะเป็นการผลักดันให้ผู้ที่มีความคิดในอีกฝั่งต่อต้าน และยืนหยัดต่อความเชื่อตัวเองมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น แทนที่เราจะไปบอกกลุ่มคนที่คิดต่างว่าพวกเขาคิดผิดอย่างไร เราควรชวนพวกเขามาพูดคุยถึงข้อดีและข้อเสียของแนวคิดของแต่ละฝ่าย พร้อม ๆ กับการยอมรับว่าแนวคิดของเรา ก็อาจมีจุดอ่อนในบางเรื่อง และการแก้ไขปัญหาอันซับซ้อนนี้อาจไม่มีคำตอบที่ดีที่สุดเพียงคำตอบเดียว
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคปัจจุบันก็คือ การแบ่งขั้ว (polarization) ของผู้คนออกเป็นสองฝ่ายตามความเชื่อที่ตรงกันข้ามกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุนการทำแท้งกับกลุ่มคนที่ต่อต้านการทำแท้ง หรือ กลุ่มคนที่สนับสนุนและกลุ่มต่อต้านประธานาธิบดี Donald Trump ซึ่งล้วนถูกเร่งโดย social media และสื่อที่มักชอบนำเสนอเฉพาะกลุ่มความคิดแบบสุดโต่งมานำเสนอ
ซึ่งความขัดแย้งของผู้คนที่มักแตกออกจากกันเป็นสองขั้วนั้น มีต้นตอสำคัญมาจากอคติสองขั้ว (binary bias) ที่สมองของมนุษย์มักมองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงแค่สีขาวหรือสีดำ ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว โลกของเรานั้นมีความซับซ้อน (complexity) อย่างสูง และเต็มไปด้วยสีเทาหลากเฉดสี เพียงแต่ว่าคนส่วนใหญ่นั้นไม่ได้คิดถึงความซับซ้อนเหล่านั้น เช่น คนส่วนใหญ่มักแบ่งกลุ่มคนที่มีความเชื่อเรื่องโลกร้อนออกเป็นเพียงแค่ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนที่เชื่อว่าปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ กับกลุ่มคนที่เชื่อว่าโลกร้อนนั้นเป็นเรื่องหลอกลวง ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว โลกใบนี้ยังมีกลุ่มคนที่อยู่ระหว่างความสุดโต่งอีกมากมายหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มคนที่คิดว่าโลกร้อนมีจริงแต่ไม่คิดว่ามันจะส่งผลร้ายแรง หรือ กลุ่มคนที่คิดว่าสักพักปัญหานี้ก็ได้รับการแก้ไขเมื่อถึงคราวจำเป็น
ทางแก้ก็คือ ข้อมูลการนำเสนอจะต้องมีหลายมุมมอง ไม่ใช่แค่ว่าใครถูกใครผิด อะไรดีอะไรไม่ดี แต่ควรนำเสนอหลาย ๆ มุมแบบซับซ้อนขึ้นไปอีก ด้วยวิธีนี้จะทำให้ผู้เสพตระหนักว่า มันมีมากกว่าสีขาวกับสีดำ ซึ่งการเห็นอะไรแบบนี้ก็จะทำให้ผู้เสพข่าวสารมีแนวโน้มจะคิดทบทวนเองได้ ตัวอย่างของประเด็นที่มีความซับซ้อนนั้นก็คือ เรื่องความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) ในที่ทำงาน บางคนอาจจะเชื่อว่าความฉลาดทางอารมณ์สำคัญกว่า ในขณะที่อีกคนว่าความฉลาดทางสติปัญญาดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันขึ้นอยู่กับลักษณะของงานด้วย ถ้าเป็นงานที่ต้องใช้การพูดคุยทำความเข้าใจผู้คน IQ ก็อาจจะไม่ได้สำคัญเท่า EQ แต่ถ้าเป็นงานที่ค่อนข้างเป็นระบบ มีแบบแผนอยู่แล้ว การมี EQ สูงอาจไม่ช่วยอะไรและอาจเป็นโทษด้วยซ้ำ
หนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เราสื่อสารเรื่องความซับซ้อนนี้ได้ง่ายขึ้น คือการรู้ถึงข้อจำกัดของประเด็นต่าง ๆ เหมือนเวลาที่นักวิจัยเขียนรายงานเกี่ยวกับการทดลอง ก็มักจะมีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่เล่าถึงข้อจำกัดของงานวิจัยของตัวเอง เพื่อบอกคนอ่านว่าสิ่งที่ค้นพบมันยังไปต่อได้อีก สิ่งที่เราเจอว่าใช่มันอาจจะไม่อยู่ภายใต้การควบคุม ด้วยวิธีนี้จะเป็นการกระตุ้นให้ผู้รับสื่อฉุกคิดมากขึ้น
นอกจากความหลากหลายด้านมุมมองแล้ว ความหลากหลายของอารมณ์ที่เกิดขึ้น ระหว่างการพูดคุยก็เป็นตัวบ่งบอกว่า การสนทนานี้มีคุณภาพคือ ถ้าหากว่าเรารู้สึกแค่บวกหรือลบไปเลย มันก็เหมือนยึดติดอยู่กับแค่ฝั่งตัวเอง แต่ถ้าระหว่างการพูดคุย มีความรู้สึกที่ทับซ้อนกันไปเรื่อย ๆ เช่น ตอนแรกโกรธเพราะอีกฝ่ายไม่ถูกใจ แต่จู่ ๆ ก็เริ่มสนอกสนใจในสิ่งที่อีกฝ่ายเล่าเพราะเป็นเรื่องใหม่ จากนั้นอาจจะดีใจที่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ จากฝ่ายตรงข้าม
ความแปรปรวนของอารมณ์นี้ เป็นตัวบ่งบอกว่าเราพร้อมที่จะคิดทบทวน และจบบทสนทนาอย่างมีคุณภาพได้ การสนทนาแบบกระตุ้นอารมณ์ต้องอาศัยความซับซ้อน เมื่อเราทำตัวเป็นนักเทศน์ อัยการ หรือนักการเมือง ความซับซ้อนของสภาพความเป็นจริงอาจชวนให้รู้สึกไม่สบายใจ แต่เมื่อทำตัวเป็นนักวิทยาศาสตร์อาจมองว่ามันชวนให้ฮึกเหิม เพราะมันหมายความว่าอาจค้นพบโอกาสใหม่ ๆ ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจและความก้าวหน้า
บทที่ 9 เขียนหนังสือเรียนใหม่ สอนให้นักเรียนตั้งคำถามต่อความรู้
หนึ่งในต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันนั้น ไม่ค่อยมีทักษะในการคิดทบทวนและละทิ้งความรู้เดิมนั้นก็คือ ระบบการศึกษาที่อาศัยการสอนแบบบรรยาย (lecture) ที่ให้นักเรียนฟังความข้างเดียวจากครูผู้สอน โดยไม่มีการกระตุ้นให้เกิดความสงสัย การตั้งคำถามและการคิดวิเคราะห์ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของกระบวนการคิดทบทวน
เอริน แมคคาร์ที สอนวิชาสังคมศึกษาอยู่ในมิลวอกี ภารกิจของเธอคือการปลูกฝังความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับอดีตให้กับนักเรียน ขณะเดียวกันก็จูงใจให้พวกเขาพัฒนาความรู้เกี่ยวกับปัจจุบันไปด้วย มีอยู่งานหนึ่งที่ผู้เขียนโปรดปรานที่สุด เป็นเรื่องการเรียนรู้แบบเน้นตั้งคำถาม (inquiry-based learning) เอรินให้นักเรียนเกรดแปดทำวิจัยด้วยตนเอง โดยอาศัยการสำรวจ ตรวจสอบ สอบถาม และตีความ จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาทำเป็นโครงงานกลุ่ม แล้วให้นักเรียนเลือกเนื้อหาจากหนังสือเรียน โดยเลือกช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่พวกเขาสนใจ และหัวข้อที่คิดว่ามีการพูดถึงน้อยเกินไป แล้วลงมือเขียนหนังสือเรียนขึ้นมาใหม่
ระบบการศึกษาที่เอื้อต่อการสร้างทักษะในการคิดทบทวน ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญมากในโลกยุคปัจจุบัน จึงควรเน้นไปที่การพัฒนารูปแบบการสอนแบบการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น (active learning) ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียน ได้มีส่วนร่วมในการคิดวิเคราะห์ ทดลองและออกความเห็น ผ่านเครื่องมือประกอบการสอน เช่น การเปิดให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น การทำสวมบทบาท (roleplay) ระหว่างนักเรียน การแบ่งกลุ่มเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา และการจำลองสถานการณ์ผ่านเกมหรือโปรแกรมการจำลอง (simulation)
ซึ่งผู้เขียนถึงกับให้นักเรียนเป็นผู้กำหนดแนวทาง และหัวข้อการเรียนของคาบเรียนหนึ่งคาบเองเสมอ ซึ่งนักเรียน Wharton ก็สามารถสร้างสรรค์คลาสเรียนที่น่าสนใจได้มากมาย เช่น เสวนาความคลั่งไคล้ (passion talks) ที่เปิดให้นักเรียนอาสาสมัครมาเล่าเรื่องราวที่ตัวเองชื่นชอบให้กับคนอื่น นอกจากนั้นผู้เขียนยังมอบหมายงานการคิดทบทวนโดยให้นักเรียนอัด podcast หรือ TED talk ที่มีเนื้อหาท้าทายความเชื่อแบบเดิม ๆ อย่างมีเหตุผล
ที่สำคัญที่สุด การปลูกฝังแนวคิดแบบการคิดทบทวน ให้กับเด็กนั้นควรเริ่มตั้งแต่ในวัยอนุบาลและวัยประถมเพื่อสร้างพื้นฐานให้พวกเขาเข้าใจว่าความยืดหยุ่นทางความคิดและการเรียนรู้ตลอดเวลานั้นเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งสามารถทำได้หลากวิธี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนนั่นคือ รอน เบอร์เกอร์ เขาทำงานเป็นครูโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐบาลในแถบชนบทของรัฐแมสซาชูเซตส์ นอกจากงานสอนเขายังเป็นช่างไม้ในฤดูร้อนและในช่วงสุดสัปดาห์ เวลาที่เหลือเขาอุทิศไปกับการสอนนักเรียน เขาอยากให้นักเรียนสัมผัสกับความสุขจากการค้นพบอะไรบางอย่าง
เมื่อเริ่มต้นปีการศึกษา เขานำเสนอปริศนาหรือปัญหาเพื่อให้นักเรียนแก้ไข อย่างการสอนด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม เบอร์เกอร์ ให้นักเรียนวาดรูปบ้านอย่างน้อย 4 แบบเพื่อกระตุ้นให้พวกเขาเข้าใจว่าสิ่งต่าง ๆ นั้นไม่ได้มีแค่แบบเดียว การเปิดให้นักเรียนวิจารณ์รูปของกันและกัน เพื่อปรับปรุงให้รูปเหล่านั้นสวยขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการสอนให้นักเรียนรับฟังความคิดเห็นที่มีประโยชน์ของผู้อื่น หรือ การให้นักเรียนแก้ไขตำราเรียนที่ล้าสมัย เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าองค์ความรู้นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
มีคนจำนวนน้อยมากโชคดีพอที่จะได้หัดวาดรูปกับรอน เบอร์เกอร์ หรือเขียนตำราเรียนใหม่กับ เอริน แมคคาร์ที แต่เราทุกคนล้วนมีโอกาสที่จะสอนให้เหมือนพวกเขามากขึ้น ไม่ว่าจะสอนใครก็ตาม สามารถแสดงความถ่อมตน และความอยากรู้อยากเห็นให้มากกว่าเดิม รวมถึงแนะนำเด็ก ๆ รู้จักกับความสุขของการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ทุกคนควรเลิกถามเด็กว่า โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร เพราะโลกใบนี้มันช่างกว้างใหญ่และมีโอกาสมากมายในอนาคต เราไม่ควรตีกรอบความคิดของพวกเขา การศึกษาเป็นมากกว่าข้อมูลที่สั่งสมไว้ในหัว มันเป็นนิสัยที่พัฒนาขึ้นได้ เมื่อเราหมั่นแก้ไขแบบร่างของเรา และเป็นทักษะที่เราสร้างขึ้นเพื่อที่จะได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
บทที่ 10 นั่นไม่ใช่แนวทางที่เราทำมาตลอด สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ในที่ทำงาน
ในปี 1986 โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่แห่งวงการอวกาศก็ได้เกิดขึ้น เมื่อกระสวยอวกาศซาเลนเจอร์ (Challenger) ระเบิดหลังจากการขึ้นบินเพียง 73 วินาที จากสาเหตุของความผิดพลาดของชิ้นส่วนที่มีชื่อว่า O-ring ที่เครื่องเร่งความเร็วจรวดหลุดออกมาขณะปล่อยยาน แต่เรื่องที่ไม่น่าเชื่อเลยก็คือว่า ทีมวิศวกรระดับหัวกะทิของ NASA นั้น ได้ค้นพบโอกาสการเกิดความผิดพลาดนี้ ตั้งแต่ก่อนจะปล่อยยานแล้ว แต่พวกเขาก็ยังให้ไฟเขียวแก่ภารกิจครั้งนี้อยู่ดี เพียงเพราะว่าปัญหานี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายรอบ แต่ภารกิจครั้งก่อน ๆ หน้าก็ไม่เคยล้มเหลวจนคร่าชีวิตนักบินอวกาศถึง 7 คนแบบครั้งนี้มาก่อนเลย
อีก 17 ปีต่อมาในปี 2003 โศกนาฏกรรมในลักษณะเดียวกันก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้งกับ NASA เมื่อกระสวยอวกาศโคลัมเบีย (Columbia) เกิดระเบิดขึ้นขณะเดินทางกลับมายังโลก โดยถึงแม้ว่าทีมวิศวกรได้เห็นความผิดพลาดของชิ้นส่วนโฟมที่หลุดออกมาจากถังเชื้อเพลิงขณะยานขึ้นบิน แต่พวกเขาก็คิดว่าปัญหานี้เป็นเรื่องเล็กน้อยที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่น่าก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ จนปล่อยให้ยานอวกาศลำนี้กลับสู่ชั้นบรรยากาศโลก และเกิดเหตุร้ายซึ่งคร่าชีวิตนักบินอวกาศอีก 7 คนขึ้นในที่สุด
สาเหตุใดถึงทำให้องค์กรที่มีแต่ทีมงานระดับหัวกะทิอย่าง NASA นั้น ถึงไม่สามารถเปลี่ยนความคิดได้ และยอมปล่อยให้เหตุการณ์ที่น่าจะป้องกันได้นี้เกิดขึ้น คำตอบก็คงหนีไม่พ้นวัฒนธรรมองค์กรของ NASA ที่เชิดชูความสำเร็จ ที่มีแต่จะสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองที่มากเกินพอดี ให้แก่เหล่าวิศวกรจนไม่เอื้อให้เกิดการคิดใหม่ และการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ลองคิดดูว่าถ้าหากมีคนใน NASA กล้าถามคนอื่นว่า คุณรู้ได้อย่างไรว่า ความผิดพลาดเล็กน้อยนี้มันปลอดภัยจริง ๆ ทุกคนคงเริ่มตั้งคำถาม และค้นพบว่าไม่มีใครได้ตรวจสอบความเสี่ยงนี้จริง ๆ โศกนาฏกรรมสองครั้งนี้ก็อาจไม่เกิดขึ้น การใช้คำถามว่า คุณรู้ได้อย่างไรถือเป็นคำถามที่เราต้องถามให้บ่อยขึ้น ประเด็นคือความตรงไปตรงมา มันไม่ใช่การตำหนิ แต่เป็นการแสดงความสงสัย และความอยากรู้อยากเห็นอย่างตรงไปตรงมา
การสร้างกระบวนการคิดทบทวนนั้น จึงไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในระดับบุคคล แต่องค์กรทุกองค์กรก็ควรสร้าง learning culture หรือวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ ที่เอื้อให้พนักงานทุกคนเกิดกระบวนการคิดใหม่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และลดโอกาสการเกิดความผิดพลาดที่เสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ ได้แก่
Psychological safety : การสร้าง “ความรู้สึกปลอดภัย” ให้กับพนักงานทุกคนเพื่อให้พวกเขาสามารถเสี่ยงลองผิดลองถูกและท้าทายความคิดของผู้อื่นอย่างมีเหตุผลได้โดยไม่ต้องกลัวการถูกลงโทษ ซึ่งวัฒนธรรมข้อนี้จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องเริ่มจากการที่ผู้นำทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น การที่ผู้นำออกมาพูดถึงความผิดพลาดของตัวเองอย่างเปิดเผย ผู้เขียนเคยแนะนำให้ Melinda Gates อัดคลิปตัวเองอ่านคำวิพากษ์วิจารณ์ของพนักงานมูลนิธิ Gates Foundation ที่กรอกมาในแบบสำรวจประจำปีเพื่อส่งสัญญาณว่าเธอพร้อมพัฒนาตัวเอง และรับฟังความคิดเห็นของทุกคนอย่างเปิดเผย
Process accountability : การสร้างความรับผิดชอบต่อคุณภาพของกระบวนการ ที่นำไปสู่ผลลัพธ์ไม่ใช่แค่การให้ความสำคัญแต่กับผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว เพื่อให้พนักงานทุกคนเรียนรู้และพัฒนากระบวนการให้ดีที่สุดอยู่เสมอ โดยไม่ยึดติดกับกระบวนการแบบเดิม ๆ ที่เคยได้รับผลลัพธ์ที่ดี เพราะความสำเร็จจากกระบวนการที่ไม่ได้เรื่องเป็นเพียงแค่โชค แต่ความล้มเหลวที่เกิดจากกระบวนการที่ดีคือการเรียนรู้ชั้นเลิศ ดังนั้นองค์กรทุกที่ควรยกเลิกการมีแนวทางที่ดีที่สุดในอดีต และให้ความสำคัญกับการหาแนวทางที่ดีกว่าแทน ตัวอย่างกระบวนการที่ดีก็คือ กระบวนการตัดสินใจของ Amazon ที่ทีมงานจะต้องสรุปปัญหาที่ต้องการแก้ไข แนวทางการแก้ไขในอดีตที่ไม่ได้ผล และเหตุผลที่ทำให้แนวทางการแก้ไขที่นำเสนอนี้ ตอบโจทย์กว่าแต่ก่อนเป็นกระดาษ 6 หน้า และจัดประชุมทีมงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ เพื่อวิเคราะห์ถึงคุณภาพของโครงการนั้น ๆ อย่างครอบคลุม
เมื่อองค์กรสามารถสร้างความรู้สึกปลอดภัยในการท้าทายความคิดแบบเดิม ๆ และความรับผิดชอบต่อกระบวนการคิดให้แก่พนักงานทุกคนแล้ว องค์กรเหล่านั้นก็จะเต็มไปด้วยพนักงานที่มีอิสรภาพในการคิดทบทวนได้อย่างเต็มที่ และเกิดเป็นเครือข่ายแห่งการท้าทาย (challenge network) ที่ทุกคนสามารถท้าทายความคิดของกันและกันได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคิดเหล่านั้น ดียิ่งขึ้นไปมากกว่าเดิม
ส่วนที่สี่ บทสรุป
บทที่ 11 หนีจากมุมมองแบบอุโมงค์
ทุกคนน่าจะมีความคิดว่าเราต้องการดำเนินชีวิตอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การงาน ด้านธุรกิจ หรืออื่น ๆ ซึ่งมันอาจเป็นแรงบันดาลใจให้เรามีความพยายามมากขึ้น แต่ในทางตรงข้าม มันอาจทำให้เรามีวิสัยทัศน์ที่แคบและไม่เห็นความเป็นไปได้อย่างอื่น เพราะเราไม่รู้ว่าเวลาและสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงตัวเราอย่างไร ถ้าเรายึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป อาจจะทำให้อยู่บนเส้นทางที่ผิดบ่อยครั้ง หลายสิ่งอาจไม่ได้เกิดขึ้นตามที่คุณวางแผนไว้ ปฏิกิริยาแรกของคนส่วนมาก คือไม่ลองคิดใหม่อีกที แต่เป็นการทำสิ่งเดิมเพิ่มขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นลงทุนเพิ่มลงไปในธุรกิจที่ไม่เวิร์ค หรือเจาะจงไปในสายงานที่ตัวเองไม่ชอบ แน่นอนว่าคุณอาจจะเสียดายกับสิ่งที่ลงทุนไปแล้ว แต่อาจจะเป็นเหตุผลด้านจิตวิทยามากกว่า ที่น่าสนใจคือสิ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จ อาจจะทำให้เกิดความล้มเหลวได้เช่นกัน
ผู้เขียนยกตัวอย่างลูกพี่ลูกน้องของเขาที่ชื่อไรอัน ไรอันพยายามเรียนแพทย์ตามที่ปู่กับย่าของเขาต้องการ จนจบเป็นศัลยแพทย์ระบบประสาทในศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง อายุ 30 ยังคงติดหนี้ทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา แม้ว่าเขาจะจบมานานกว่าสิบปีแล้ว โดยที่หลาย ๆ คนนั้นไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริงว่าชีวิตของการเป็นแพทย์นั้น มีบททดสอบอะไรบ้าง ทั้งการเรียนอย่างหนักนานเป็น 10 ปี และการออกไปทำหน้าที่แพทย์ใช้ทุนในชนบท หมอที่ไม่มีความสุขในอาชีพเหล่านั้น ส่วนใหญ่ก็ยังคงทนเรียนหรือทำงานต่อไป
เราทุกคนล้วนมีความคิดว่าอยากเป็นใครและคาดหวังว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร ความคิดเหล่านั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะเรื่องอาชีพ แต่อันตรายของแผนการเหล่านี้ก็คือ มันอาจทำให้เราเกิดมุมมองแบบอุโมงค์ (tunnel vision) ส่งผลให้เรามีมุมมองที่แคบลงจนไม่เห็นความเป็นไปได้อื่น ๆ เราไม่อาจรู้ได้ว่าเวลาและสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราต้องการ หรือแม้กระทั่งคนที่เราอยากเป็นอย่างไร เมื่อได้อุทิศตนให้กับแผนการอย่างหนึ่ง และมันไม่เป็นไปตามที่เราหวังไว้สัญญาตญาณแรกของเรามักไม่ใช่การคิดทบทวน แต่เป็นการทุ่มเทและผลาญทรัพยากรมากขึ้นไปกับแผนการนั้น แนวโน้มเช่นนี้เรียกว่าการเพิ่มระดับความยึดมั่น (escalation of commitment) หรือการทวีคูณความผูกมัด ที่พวกเขามักจะรู้สึกเสียดายกับทรัพยากรที่ทุ่มเทลงไปในอดีต และต้องการที่จะพิสูจน์ว่าความคิดในอดีตของตัวเองนั้นคือ สิ่งที่ถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วประสบการณ์และสถานการณ์ในวันนี้ มันช่างแตกต่างจากตอนที่คุณเริ่มตั้งความคิดเหล่านั้นขึ้นมาอย่างสิ้นเชิง
อีกหนึ่งกับดักด้านจิตวิทยาที่หลายคนทำพลาด เรียกว่า identity foreclosure การยึดเอกลักษณ์ คือการที่เราสร้างเอกลักษณ์ให้ตัวเองเร็วเกินไป โดยที่ไม่ไตร่ตรองให้ดีก่อน สิ่งที่เห็นได้จากการที่ผู้ใหญ่ชอบถามเด็กว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ Michelle Obama กล่าวว่านี่เป็นคำถามที่ไร้สาระที่สุดที่จะถามเด็ก สิ่งที่ดี คือไม่ควรให้เด็กมองสายงานเป็นเอกลักษณ์ แต่ให้เป็นการกระทำอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้พวกเขากล้าค้นพบหลาย ๆ เส้นทาง
ผู้เขียนแนะนำว่า เราไม่ควรวางแผนระยะยาวเกินไป และควรจะมีการ check-up กับแผนการของตัวเองเป็นช่วง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ทุก ๆ 6 เดือนถึง 1 ปี อาจจะใช้เวลาไตร่ตรองเกี่ยวกับสายงานที่เลือกว่ายังเป็นสิ่งที่ต้องการจะทำอยู่หรือเปล่า โดยไม่ต้องยึดติดกับเอกลักษณ์ไปตลอด จะต้องใช้ความถ่อมตนในการพิจารณาอดีต มีความไม่แน่ใจในการถามเกี่ยวกับปัจจุบัน และมีความอยากรู้อยากเห็นเพื่อจินตนาการอนาคต แล้วสิ่งที่ค้นพบอาจจะปลดปล่อยจากสิ่งที่เป็นอยู่ การมีความคิดใหม่ ไม่ใช่เป็นเพียงการหาความรู้เพิ่มเติม แต่เป็นเครื่องมือที่ทำให้มีชีวิตที่เติมเต็มได้ จงจำไว้เสมอว่าตัวตนนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาและการทบทวนความคิดของตัวเองอยู่เป็นระยะ ๆ นั้น คือหนทางในการสร้างชีวิตที่สมบูรณ์
บทส่งท้าย
สิ่งที่ผู้เขียนใคร่ครวญถึงคือ การคิดทบทวนเกิดขึ้นได้อย่างไร ตลอดระยะเวลาหลายพันปีก่อน การคิดทบทวนส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครเห็น ความรู้จำนวนมหาศาลถูกถ่ายทอดด้วยคำพูด จึงทำผู้ส่งจดจำและถ่ายทอดข้อมูลแตกต่างกันไป ทำให้ผู้รับไม่รู้ว่าเรื่องราวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แนวคิดเหล่านั้นอาจถูกสร้างขึ้นมาใหม่อย่างสิ้นเชิงก็ได้ โดยที่ไม่มีใครรู้เลย แม้ในปัจจุบันรูปแบบจะเปลี่ยนแปลงไป มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเกิดขึ้น แต่การแก้ไขข้อมูลก็ยังมีอยู่เช่นเดิม เพราะมีการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าคนอื่นถูกหรือตัวเองผิด การจัดระเบียบความรู้อาจช่วยให้แกะรอยได้ แต่ก็ไม่ช่วยให้เปิดใจยอมรับเสมอไป
การคิดทบทวนจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน ซึ่งทุกคนมีความสามารถในการคิดทบทวนนี้อยู่แล้ว แต่ใช้ไม่บ่อยแค่นั้นเอง ถึงแม้การคิดทบทวนจะเป็นสิ่งที่มีค่า เรากลับคิดทบทวนไม่มากพอ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เราต้องรับมือกับการตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิต หรือปัญหาที่ร้ายแรงในยุคสมัยของเรา ต้องมีความยืดหยุ่นทางความคิด ความถ่อมตัว ความเคลือบแคลงสงสัย รวมถึงความอยากรู้อยากเห็นล้วนมีความสำคัญมาก การทดลองที่กล้าหาญและต่อเนื่อง อาจเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับการคิดทบทวน ทุกคนสามารถพัฒนาการคิดทบทวนได้ โลกจะน่าอยู่ถ้าทุกคนสวมบทนักวิทยาศาสตร์กันให้บ่อยขึ้น เห็นด้วยหรือเปล่า ถ้าไม่เห็นด้วย หลักฐานแบบไหนถึงจะทำให้เปลี่ยนความคิดได้
สั่งซื้อหนังสือ “Think again คิดแล้วคิดอีก” ได้ที่นี่ : คลิ๊ก