(Jujutsu Kaisen) มหาเวทผนึกมาร : อาณาเขต สัญลักษณ์มือ และความเชื่อมโยงกับศาสนา

สวัสดีครับ นี่ก็เป็นอีกกระทู้วิเคราะห์การ์ตูนของผม วันนี้เรามากับเรื่อง Jujutsu Kaisen หรือ มหาเวทผนึกมาร นั่นเอง
หลังจากที่ผมได้ตามการ์ตูนเรื่องนี้มาได้หลายปี ผมก็รู้สึกว่านอกจากจะมีเนื้อเรื่องที่สนุกและน่าติดตามแล้ว อาจารย์คนเขียนยังนำความเชื่อโยงทางศาสนาต่างๆ โดยเฉพาะ ศาสนาพุทธและชินโต เข้ามาสอดแทรกได้อย่างแนบเนียนอีกด้วย
ต้องขอออกตัวก่อนว่าผมเป็นคนไทยพุทธ แต่ผมอาจไม่ได้ศึกษาศาสนาอย่างลึกซื้ง หากผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้
(หากกระทู้นี้ได้รับการตอบรับที่ดี จะมาเขียนวิเคราะห์อีกนะครับ เผื่อใครสนใจ)

กางอาณาเขต
ในเรื่องมหาเวทผนึกมาร  ทุกครั้งที่ผู้ใช้คุณไสยทำการกางอาณาเขต ผู้ใช้คุณไสยจะทำสัญลักษณ์ด้วยมือ ที่เรียกว่า 'มุทรา'

มุทราคืออะไร?
มุทรา คือ การทำสัญลักษณ์ด้วยมือ ถูกใช้โดยพวกพราหมณ์หรือโยคีในสมัยโบราณ เช่น ในการทำสมาธิหรือประกอบพิธีกรรม เพื่อเพ่งจิตให้มั่นคง ต่อมาศาสนาพุทธถืออุบัติขึ้น มุทราก็ถูกนำมาใช้ในทางศาสนาเช่นกัน โดยจะพบการแสดงมุทราได้มากในปางพระพุทธรูปต่างๆ และรวมถึงการประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์ในบางนิกาย

แล้ว มุทรา เกี่ยวอะไรกับการกางอาณาเขต?
ทุกคนน่าจะรู้กันอยู่แล้วว่า การกางอาณาเขต คือการใช้ท่าไม้ตายสูงสุด ซึ่งผู้ใช้ต้องใช้พลังไสยเวทมหาศาลในแต่ละครั้ง การทำมุทราขณะกางอาณาเขตไปด้วย ก็อาจเปรียบเสมือนการเพ่งจิตสมาธิไปที่การกางอาณาเขต เพื่อนำมาซึ่งชัยชนะในการต่อสู้

ผู้ใช้คูณไสยในเรื่อง จะมีอาคมและสัญลักษณ์มือที่แตกต่างกันไป มุทราเหล่านี้บ้างก็จะเกี่ยวข้องกับบุคคลในศาสนาพุทธ ชินโต รวมถึงฮินดู จะมีใครกันบ้าง ไปดูกันครับ
(Note : มุทราเหล่านี้ เป็นมุทราที่ปรากฎเฉพาะศาสนาพุทธนิกายชิงงอน หรือศาสนาพุทธแบบวัชรยานของญี่ปุ่น)

โกะโจ ซาโตรุ : พื้นที่ไร้มาตร (無量空処 / muryoukuusho)
 
ความสามารถ : ป้อนข้อมูลมหาศาลเข้าไปในสมองของคู่ต่อสู้จนกลายเป็นอัมพาตชั่วคราว

มุทรานี้ เกี่ยวข้องกับ ไทชะคุเท็น (帝釈天) หรือ ท้าวสักกะเทวราช บ้านเราก็จะรู้จักกันในนาม พระอินทร์ นั่นเอง
ท้าวสักกะ ถือกันว่าเป็นเทพสูงสุดบนสวรรค์ในศาสนาพุทธ ในศาสนาฮินดู ท้าวสักกะถูกลดบทบาทลง และแทนที่ด้วยตรีมูรติ

> ทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับมุทราของโกะโจ <

เรียวเมน สุคุนะ : อารามสงฆ์ซ่อนมาร (伏魔御厨子 / fukuma mizushi)

ความสามารถ : สร้างอาณาเขตแบบเปิด สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระยะของอาณาเขตนี้จะถูกอาคม "เฉือน" โจมตีต่อเนื่องตามความทนทานของเป้าหมาย ส่วนวัตถุที่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตจะถูกอาคม "ฟัน" โจมตีอย่างต่อเนื่อง จนกว่าอาณาเขตนี้จะหายไป

มุทราของสุคุนะ เกี่ยวข้องกับ เอนมะเท็น (閻魔天) หรือ พระยม ผู้เป็นจ้าวแห่งนรก พบได้ทั้งในศาสนาพุทธและฮินดู

โจโกะ : ฝาโลงภูผาเหล็ก (蓋棺鉄囲山 / gaikan tecchizen)

ความสามารถ : สร้างพื้นที่ปิดที่ล้อมรอบด้วยภูเขาไฟและความร้อน ใช้ในการโจมตีศัตรู

มุทรานี้เกี่ยวข้องกับ ไดโกกุเท็น (大黒天) เป็นหนึ่งใน "เจ็ดเทพแห่งโชคลาภ" ของญี่ปุ่น เป็นเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง การเพาะปลูก คอยคุ้มครองข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน โดยเฉพาะในห้องครัว เป็นเทพที่มีต้นกำเนิดมาจากความเชื่อของลัทธิเต๋า ซึ่งก็รับมาจากคติเดิมของศาสนาฮินดูอีกที เทพองค์นี้เดิมคือ พระศิวะ ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งกาลเวลา และการทำลายล้าง

มาฮิโตะ : นิพพานปิดตน (自閉円頓裹 / jihei endonka)

ความสามารถ : จะสามารถใช้อาคม "ธรรมชาติแปรผัน" กับเป้าหมายที่อยู่ในอาณาเขตได้โดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสตัวเป้าหมายก่อน

มุทราของมาฮิโตะมีอยู่ 2 แบบ มุทราแบบแรก (ซ้ายบน) เกี่ยวข้องกับ โคคุโซ (虚空蔵) หรือ พระอากาศครรภ เป็นพระนามพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งของศาสนาพุทธนิกายมหายาน นับถือเป็นพระโพธิสัตว์แห่งสมาธิ แบบที่ 2 (ขวาล่าง) คือมุทราของเทพีองค์หนึ่งที่มีนามว่า กิเกอิเท็น (伎芸天 / gigeiten) เทพีในศาสนาพุทธมหายานที่ไม่มีใครรู้จักมากนัก พบได้เฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น เป็นเทพีแห่งศิลปะและการแสดง


(รูปแกะสลักไม้ของ กิเกอิเท็น)
(Edit : ผมเพิ่งทราบมาว่า กิเกอิเท็น ในคติฮินดูคือ พระภีมะ ผู้เป็นโอรสของพระพาย และเป็นน้องชายต่างมารดาของหนุมาน)

ฟุชิกุโระ เมกุมิ : สวนเงามืดประสาน (嵌合暗翳庭 / kangou'an eitei)

ความสามารถ : สร้างพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเงา และสามารถอัญเชิญชิคิกามิออกมาได้จำนวนมาก

มุทรานี้เกี่ยวข้องกับ ยาคุชิ เนียวไร (薬師如来) หรือ พระไภยษัชยคุรุไวฑูรยประภา เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งที่นับถือในนิกายมหายาน โดดเด่นเรื่องการรักษาโรคภัยต่างๆ มักพบเห็นคู่กับพระอมิตาภ คนไทยรู้จักกันในนาม พระกริ่งปวเรศ หรือ พระหมอยา


(พระกริ่งปวเรศ)

กระทู้สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม = [Jujutsu Kaisen] ชิกิงามิของ ฟุชิงุโระ เมงุมิ และ เรียวเมน สุคุนะ

! SPOILER !
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

(ติดตามต่อในคอมเมนต์)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่