ข้ามไปเนื้อหา

กบฏแมนฮัตตัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กบฏแมนฮัตตัน

นาวาตรี มนัส จารุภา กำลังวิ่งขึ้นเรือแมนฮัตตัน
วันที่29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 (73 ปีที่แล้ว)
สถานที่
ผล

ชัยชนะของรัฐบาล

  • กองทัพเรือถูกลดบทบาท
คู่สงคราม

รัฐบาลจอมพลแปลก

การสนับสนุน
คณะกู้ชาติ
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
จอมพล แปลก พิบูลสงคราม
พันเอก นายวรการบัญชา
พลอากาศเอก ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี
พลเอก ผิน ชุณหะวัณ
พลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์
พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์
พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ
นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา
นาวาตรี มนัส จารุภา
นาวาตรี ประกาย พุทธารี
นาวาตรี สุภัทร ตันตยาภรณ์

กบฏแมนฮัตตัน หรือ กรณีแมนฮัตตัน เป็นชื่อเรียกเหตุการณ์การกบฏในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เมื่อทหารเรือกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเรียกตัวเองว่า "คณะกู้ชาติ" และนำโดย นาวาตรี มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์, พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ นายทหารนอกราชการ อดีตผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน , นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา ผู้บังคับการกองสำรองเรือรบ, นาวาตรี ประกาย พุทธารี สังกัดกรมนาวิกโยธิน และนาวาตรี สุภัทร ตันตยาภรณ์ สังกัดกรมนาวิกโยธิน ทำการกบฏจี้ตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ระหว่างเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนสัญชาติอเมริกัน ชื่อ "แมนฮัตตัน" ที่ท่าราชวรดิฐ โดยนำไปกักขังไว้ในเรือรบหลวงชื่อ "ศรีอยุธยา" ที่จอดรออยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา

ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะผู้ก่อการคิดจะก่อการในลักษณะเช่นนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่สบจังหวะที่เหมาะสม จึงได้แต่เลื่อนออกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงเวลาลงมือจริง หลายฝ่ายที่ถูกชักชวนให้ลงมือก็คาดว่าจะต้องมีการเลื่อนอีกแน่นอน จึงมิได้ปฏิบัติการตามแผนที่วางไว้

เหตุที่เลือกเอาวันนี้เป็นวันลงมือ เพราะก่อนหน้านั้นเพียงหนึ่งวัน มีการปล่อยกำลังทหารกองหนุนกลับสู่ภูมิภาค ทำให้จำนวนทหารในพระนครเหลือน้อย เรียกกลับมาประจำการไม่ทัน อีกทั้งพื้นที่บริเวณนี้ก็เป็นเขตของทหารเรือด้วย จึงลงมือได้ง่ายกว่า

เหตุการณ์

[แก้]

ในเหตุการณ์กบฏ หัวหน้าคณะก่อการ คือ น.อ.อานนท์ ปุณฑริกกาภา ร.น. สั่งการให้ทหารเรือกลุ่มที่สนับสนุนการก่อการมุ่งหน้าและตรึงกำลังไว้ที่พระนคร และประกาศตั้ง พระยาสารสาสน์ประพันธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม กระจายเสียงในฐานะนายกรัฐมนตรีจากในเรือ แต่ทางฝ่ายรัฐบาลไม่ยอม ได้กระจายเสียงตอบโต้ไปโดยใช้วิทยุของกรมการรักษาดินแดน (ร.ด.) โดยได้ให้นายวรการบัญชา ประธานสภาผู้แทนราษฎร รักษาการนายกรัฐมนตรีแทน และตั้งกองบัญชาการขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล (ในขณะนั้นคือ พระที่นั่งอนันตสมาคม) จึงเกิดการต่อสู้ยิงกันอย่างหนักระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลและทหารฝ่ายก่อการ ซึ่งตามแผนการของผู้ก่อการแล้ว ฝ่ายก่อการต้องยึดโรงไฟฟ้าและสถานีโทรศัพท์กลาง ที่หน้าวัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) ให้ได้ โดยเรือรบหลวงศรีอยุธยาจะต้องแล่นผ่านสะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งเปิดรอ เพื่อไปตั้งกองบัญชาการที่ฝั่งพระนคร และมีกำลังทหารจากต่างจังหวัดยกเข้ามาสมทบทั้งทหารเรือและทหารบก แต่เมื่อลงมือจริง ๆ แล้วกลับไม่เป็นไปตามนั้น สะพานพระพุทธยอดฟ้าก็ไม่เปิด และในที่สุดเครื่องยนต์เรือก็เสียจากการถูกโจมตีหนัก โดยในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ใช้อำนาจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ใช้กำลังทหารเพื่อปราบจลาจล[1] และในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เวลา 10.00 น. ต่อมาพระบรมราชโองการประกาศกฎอัยการศึกในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี[2]โดยผ่านพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร นับว่าเป็นการใช้กฎอัยการศึกครั้งแรกในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรโดยมีนายวรการบัญชา รักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ในส่วนของกองบัญชาการฝ่ายรัฐบาลที่ตั้งขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ฝ่ายกองทัพเรือ โดย พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ส่งผู้แทนหลายคนเข้าพบนายทหารบกชั้นผู้ใหญ่ และข้าราชการระดับสูงของทางรัฐบาล เพื่อยืนยันว่า กรณีนี้ทางฝ่ายทหารเรือส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย เป็นเพียงการกระทำการของนายทหารชั้นผู้น้อยไม่กี่นายเท่านั้น เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดระหว่างกองทัพ แต่กระนั้น ทาง พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบก รวมถึง พล.ท.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 1 ได้ยืนยันว่า การกระทำเช่นนี้นับว่าอุกอาจมาก เพราะเป็นการกระทำต่อหน้าทูตต่างชาติหลายประเทศ รวมทั้งจะให้ทางฝ่ายทหารเรือแอบขึ้นเรือรบหลวงศรีอยุธยาในยามวิกาลเพื่อบุกชิงตัวจอมพล ป. กลับคืนมาให้ได้ภายในเวลา 05.00 น. ของวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ไม่เช่นนั้นจะยิงทุกจุดที่มีทหารเรืออยู่ เพราะถือว่าเป็นการถ่วงเวลาเพื่อรอกำลังฝ่ายกบฏมาสมทบ แต่ทางฝ่ายทหารเรือไม่กล้าที่จะทำเช่นนั้น โดยให้เหตุผลว่าหากทำเช่นนั้น เกรงว่าจอมพล ป. จะได้รับอันตรายได้

เรือหลวงศรีอยุธยา ขณะถูกทิ้งระเบิดอย่างหนัก

การสู้รบกันขึ้นเมื่อเวลา 04.30 น. ของวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เริ่มจากฝ่ายรัฐบาล โดยกองทัพบกภายใต้การนำของ พลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กองทัพอากาศภายใต้การบัญชาของพลอากาศเอก ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี และกำลังตำรวจโดยพลตำรวจโท เผ่า ศรียานนท์ การสู้รบแพร่ขยายไปอย่างกว้างขวาง ทหารบกเริ่มโจมตีจากด้านพระนคร กองทัพอากาศเริ่มทิ้งระเบิดที่กรมอู่ทหารเรือ และตำแหน่งคลังเชื้อเพลิง

ในที่สุดมีการทิ้งระเบิดขนาด 50 กก. จากเครื่องบินแบบ Spitfire และ T6 ใส่เรือรบหลวงศรีอยุธยาที่อยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ลูกระเบิดดังกล่าวทะลุดาดฟ้าลงไประเบิดในคลังกระสุนใต้ท้องเรือ[3] จึงจนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เรือก็จม และในเวลา 17.00 เรือหลวงคำรณสินธุ์ ซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองคลังน้ำมันอยู่ที่บริเวณกรมอู่ทหารเรืออับปางลงอีกลำหนึ่ง ส่วนกรมอู่ทหารเรือไฟไหม้เสียหายทั้งหมด จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกทหารเรือที่อยู่บนเรือสวมเสื้อชูชีพนำว่ายน้ำหลบหนีออกมาได้ ที่สุดทั้งฝ่ายกบฏและรัฐบาลเปิดการเจรจากัน ฝ่ายกบฏได้ปล่อยตัวจอมพล ป. ให้กับฝ่ายรัฐบาล โดยผ่านทางทหารเรือด้วยกัน ซึ่ง พล.ร.อ.สินธุ์ ก็ได้นำตัวคืนสู่วังปารุสกวัน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ในเวลาประมาณ 23.00 น. ของวันนั้น

หลังจากสิ้นสุด

[แก้]

ต่อมาในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 22 และกระทรวงกลาโหมได้มีประกาศและคำสั่ง ให้ พลเรือเอก หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) ผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือโท หลวงเจริญราชนาวา (เจริญ ทุมมานนท์) รองผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือโท ผัน นาวาวิจิต ผู้บัญชาการกองเรือรบ พลเรือตรี ชลิต กุลกำม์ธร รองผู้บัญชาการกองเรือรบ พลเรือตรี กนก นพคุณ ผู้บังคับการมณฑลทหารเรือที่ 1 พลเรือตรี ประวิศ ศรีพิพัฒน์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ พลเรือตรี ดัด บุนนาค เจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือฝ่ายยุทธการ พลเรือตรี ชลี สินธุโสภณ ผู้บังคับการกองสัญญาณทหารเรือ และ พลเรือตรี สงวน รุจิราภา นายแพทย์ใหญ่ทหารเรือ ถูกพักราชการและปลดออกจากตำแหน่ง และในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบกองทัพเรือในกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2494[4] ต่อมาในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2494 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกเลิกกฎอัยการศึกในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี โดยผ่านพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[5] และในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 คณะบริหารประเทศชั่วคราวก่อ รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2494 และได้แต่งตั้ง พลตำรวจโท เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นผู้รักษาความสงบทั่วราชอาณาจักร[6]เป็นอันสิ้นสุดเหตุการณ์

ในส่วนของผู้ก่อการได้ถูกบีบบังคับให้ขึ้นรถไฟไปทางภาคเหนือ จากนั้นจึงแยกย้ายกันหลบหนีข้ามพรมแดนไปพม่าและสิงคโปร์ ในส่วนของ น.ต.มนัส จารุภา ร.น. ผู้ทำการจี้จอมพล ป. ได้หลบหนีไปพม่าได้สำเร็จ แต่ถูกจับกุมได้หลังจากลักลอบกลับเข้าประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2495

โดยการกบฏครั้งนี้นับว่าเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เพราะสถานที่ต่าง ๆ เสียหาย และมีผู้บาดเจ็บล้มตายนับร้อยทั้งทหารของทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เฉพาะผู้เสียชีวิตมีจำนวนประมาณ 187 ราย[7] แบ่งเป็นประชาชน 118 ราย ทหารเรือ 43 ราย ทหารบก 17 ราย และ ตำรวจ 9 ราย นับเป็นเหตุการณ์สงครามกลางเมืองที่คนไทยฆ่าคนไทยมากที่สุดจวบจนปัจจุบัน ความเสียหายที่เป็นสิ่งของและอาวุธยุทโธปกรณ์ในส่วนของประชาชน ทางราชการได้แถลงว่าทรัพย์สินของประชาชนที่เสียหายมีจำนวนถึง 670,000 บาท ไม่นับทรัพย์สินที่ถูกลักขโมยไปในช่วงที่เกิดความวุ่นวายและค่าทำศพของราษฎรอีกเป็นจำนวนมาก โดยรัฐบาลจ่ายให้แก่ผู้เสียชีวิตคนละ 1,500 บาท ผู้ทุพพลภาพคนละ 1,200 บาท และผู้บาดเจ็บสาหัสคนละ 400 บาท ทางด้านความสูญเสียและความเสียหาย กองทัพบกเสียหายประมาณ 6,000,000 บาท กองทัพเรือเสียหายมากที่สุด เป็นทรัพย์สินประมาณ 5,000,000 บาท ทั้งนี้ไม่นับรวมมูลค่าเสียหายของเรือหลวงศรีอยุธยาและเรือคำรณสินธ์ที่อับปางลง เรือหลวงศรีอยุธยานั้นเป็นเรือรบที่เรียกว่าเรือปืนหนัก เป็นเรือที่สั่งต่อพิเศษจากประเทศญี่ปุ่น เรือคำรณสินธ์เป็นเรือขนาดเล็ก นอกจากนี้ กรมอู่ทหารเรือยังถูกไฟไหม้วอด มีเชื้อเพลิงและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สูญหายอีกจำนวนมาก เหล่าที่สูญเสียน้อยที่สุดคงเป็นกองทัพอากาศ ซึ่งรัฐบาลถือว่าเป็น “อัศวินขี่ม้าขาว” ที่ทำให้กบฏครั้งนี้จบลงเร็วขึ้น ส่วนกรมตำรวจเสียหายประมาณ 380,000 บาท งบประมาณที่ใช้ปราบกบฏมีมูลค่าเป็นเงินทั้งหมด 15 ล้านบาท

การดำเนินคดีมีการจับกุมผู้ต้องหาร่วม 1,000 คน ซึ่งควบคุมตัวไว้ที่สนามกีฬาแห่งชาติ เนื่องจากมีจำนวนมาก ในที่สุดก็ต้องปล่อยตัวเพราะหาหลักฐานไม่เพียงพอจนเหลือฟ้องศาลประมาณ 100 คน ภายหลังนักโทษคดีนี้ส่วนใหญ่ได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ ในส่วนของกองทัพเรือ แม้ทหารที่ก่อการจะไม่ใช่ทหารระดับสูงและทหารเรือส่วนใหญ่ก็ไม่เกี่ยวข้องด้วย กระนั้น พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ และนายทหารเรือระดับสูงหลายคน ก็ยังต้องโทษตัดสินจำคุกนานถึง 3 ปี โดยที่ไม่มีความผิด และได้มีการปรับลดอัตรากำลังพลของกองทัพเรือลงไปมาก เพราะถือเป็นความพยายามก่อรัฐประหารเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกันของทหารเรือ ต่อจากกบฏวังหลวง ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นเพียง 2 ปี โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น ยุบกรมนาวิกโยธินกรุงเทพ, ยุบกองการบินกองทัพเรือไปรวมกับกองทัพอากาศ, ย้ายกองสัญญาณทหารเรือที่ถนนวิทยุ ที่ต่อมากลายเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเตรียมทหาร, สวนลุมไนท์บาซาร์ และวัน แบงค็อก ตามลำดับ[8][9]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ในฐานะสำเร็จราชการแทน
  2. พระบรมราชโองการประกาศ
  3. "นายทหารผู้ทำลาย "เรือหลวงศรีอยุธยา" เผย "เสียใจ-ไม่ได้ตั้งใจ" แต่เป็นเพราะ "ระเบิดเสื่อม"". ศิลปะวัฒนธรรม. 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559. แต่ระเบิดที่เอาไปใช้มันเสื่อม ถ้าเป็นระเบิดใหม่กระทบดาดฟ้าก็ระเบิด ถึงไฟไหม้ก็ไหม้เพียงบนดาดฟ้าพอดับได้ไม่ถึงกับจม แต่นี่มันเป็นระเบิดเก่าทะลวงดาดฟ้าลงไประเบิดข้างล่าง แถมเจอกองกระสุนในเรือเข้าอีก เลยระเบิดกันใหญ่ (น.ต. พร่างเพชร์ บุญยพันธ์) {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  4. พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบกองทัพเรือในกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2494
  5. พระบรมโปรดกล้า ยกเลิกกฎอัยการศึก
  6. ผู้รักษาทั่วราชอาณาจักร
  7. กบฎแมนฮัตตัน ฐานข้อมูลการเมืองสถาบันพระปกเกล้า[ลิงก์เสีย]
  8. เศรษฐบุตร, นรนิติ (July 2, 2012). "29 มิถุนายน". เดลินิวส์.[ลิงก์เสีย]
  9. วินทร์ เลียววาริณประชาธิปไตยบนเส้นขนาน. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, พ.ศ. 2537. ISBN 974-8585-47-6