ดีกัน
ดีกัน[1] (อังกฤษ: deacon) เป็นตำแหน่งหนึ่งในการบริหารคริสตจักร พบได้ในทุกนิกาย แต่มีการกำหนดหน้าที่และคุณสมบัติไว้แตกต่างกัน นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทยใช้คำว่าสังฆานุกร[2]
ดีกันในคริสต์ศาสนายุคแรก
[แก้]คำว่าดีกัน (deacon) มาจากคำภาษากรีก diakonos ซึ่งแปลว่า ผู้รับใช้ คัมภีร์ไบเบิลระบุว่าเมื่อคริสตชนมีจำนวนมากขึ้น เหล่าอัครทูตเห็นสมควรให้มีการเลือกคริสตชน 7 คนเพื่อมาช่วยงานคริสตจักร และจะได้เป็นการแบ่งเบาภาระของอัครทูตด้วย ในที่สุดจึงมีการเลือกบุรุษ 7 คน ได้แก่ นักบุญสเทเฟน ฟีลิป โปรโครัส นิคาโนร์ ทิโมน ปารเมนัส และนิโคเลาส์ เป็นผู้ช่วยงานคริสตจักร จึงถือว่าเป็นดีกันรุ่นแรกในคริสต์ศาสนา อัครทูตก็ได้รับรองบุคคลทั้งเจ็ดนี้โดยการทำพิธีปกมือบนศีรษะ[3] (กจ. 6:1-6)
นักบุญเปาโลยังระบุคุณสมบัติของดีกันไว้ในจดหมายของท่านที่มีไปถึงนักบุญทิโมธี ว่าดีกันต้องเป็นคนเอาการเอางาน ไม่ปลิ้นปล้อน ไม่ขี้เมา ไม่ขี้โลภ ถ้าเป็นหญิงก็ต้องไม่ใส่ร้ายผู้อื่น รู้จักประมาณตน ซื่อสัตย์ ผู้ชายต้องมีภรรยาเดียว ปกครองบุตรและบ้านของตนได้เรียบร้อยดี[4]
พันธบริกรในคริสตจักรคาทอลิก
[แก้]ดีกันในคริสตจักรจักรคาทอลิกคือพันธบริกร[5] บางแห่งก็เรียกว่าสังฆานุกร[6] ถือว่าเป็นผู้รับศีลบวช (cleric) ที่มีสถานะต่ำกว่าบาทหลวง (priest) พันธบริกรมีหน้าที่ช่วยเหลือมุขนายกและบาทหลวงในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีมิสซา พิธีศีลล้างบาป พิธีศพ เป็นต้น รวมถึงช่วยงานสงเคราะห์ เช่น ช่วยเหลือคนยากจน[7]
พันธบริกรมีสองประเภท คือพันธบริกรถาวร และพันธบริกรชั่วคราว พันธบริกรถาวรแต่งงานได้และจะต้องดำรงตำแหน่งพันธบริกรตลอดชีวิต ส่วนพันธบริกรชั่วคราวคือพันธบริกรที่เตรียมตัวเพื่อจะบวชเป็นบาทหลวง พันธบริกรชนิดนี้จะต้องถือพรหมจรรย์ตลอดชีวิต และจะสิ้นสุดสถานะพันธบริกรเมื่อได้บวชเป็นบาทหลวงแล้ว[7]
ตามประมวลกฎหมายพระศาสนจักรคาทอลิก กำหนดให้บุรุษรับศีลบวชเป็นพันธบริกรชั่วคราวได้เมื่อเรียนจบสาขาวิชาปรัชญาหรือเทววิทยาหลักสูตร 5 ปี และจะบวชเป็นบาทหลวงได้เมื่อผ่านการฝึกงานในเขตมิสซังตามที่มุขนายกหรืออธิการใหญ่ (major superior) กำหนดไว้ ส่วนพันธบริกรถาวรหากยังไม่ได้แต่งงานจะบวชเป็นพันธบริกรได้เมื่ออายุไม่น้อยกว่า 25 ปี หากแต่งงานแล้วต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 35 ปีและได้รับการเห็นชอบจากภรรยา[8]
พันธบริกรในคริสตจักรออร์ทอดอกซ์
[แก้]พันธบริกร หรือสังฆานุกร ในคริสตจักรออร์ทอดอกซ์[9] เป็นตำแหน่งแรกที่จะก้าวไปสู่ตำแหน่งต่อไป เช่น บาทหลวง หรือมุขนายก ในคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ พันธบริกรสามารถเลือกที่จะสมรสได้ก่อนที่จะรับศีลบวช และยังเลือกที่จะเป็นพันธบริกรตลอดชีวิตได้ตามความประสงค์ของตนเอง โดยพันธบริกรบางคนจะเป็นพันธบริกรประจำตัวของมุขนายก หน้าที่หลักของพันธบริกรก็คือช่วยพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ นำสวดบทวิงวอนต่าง ๆ ตามธรรมเนียมของคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ พันธบริกรจะได้รับการเรียกว่า 'คุณพ่อ' แล้ว
ลำดับขั้น
[แก้]พันธบริกร แบ่งเป็นสองสายคือสายสมรสและสายถือโสด โดยสายที่ถือโสดเมื่อได้รับศีลบวชจะได้รับขั้นเป็น "พันธบริกร" ธรรมดา หากเป็นพันธบริกรอยู่นานหรือได้รับเลือกให้เป็นพันธบริกรประจำตัวมุขนายกอาจจะได้รับแต่งตั้งให้เป็น "ปฐมพันธบริกร" (Protodeacon) ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับมุขนายก สำหรับพันธบริกรสายถือโสดหากได้ถวายตัวเป็นนักพรตก็จะได้ตำแหน่งเป็น "พันธบริกรนักพรต" (Hierodeacon) หากเป็นพันธบริกรอยู่นานหรือได้รับเลือกให้เป็นพันธบริกรประจำตัวมุขนายก อาจได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "อัครพันธบริกร" ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับมุขนายกเช่นกัน
มัคนายกในนิกายโปรเตสแตนต์
[แก้]ดีกันในนิกายโปรเตสแตนต์เรียกว่ามัคนายก[10] เป็นตำแหน่งในคริสตจักร มีหน้าที่ในการรับใช้คริสตจักรและชุมชน มีหน้าที่ดังนี้[11]
- เป็นนักเทศน์ที่สำแดงถึงน้ำพระทัยของพระเจ้าเพื่อเพิ่มพูนความเชื่อ และความรู้ของคริสเตียนและคนทั่วไป
- เยี่ยมเยียน บำบัดทุกข์ บำรุงสุขสมาชิก
- รับผิดชอบงานด้านสังคมสงเคราะห์
- รับผิดชอบดูแลรักษาทรัพย์สินของคริสตจักรทั้งสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ด้วยระบบการเงิน และการบัญชีที่รัดกุม
- ส่งเสริมการนันทนาการ การเผยแพร่ การเพิ่มพูนสมาชิก การเป็นพยาน การบริการ ฉันทะภาระ และความสามัคคีของสมชิก
- ทำหน้าที่ผู้ปกครองในกรณีที่คริสตจักรท้องถิ่นใดไม่มีตำแหน่งผู้ปกครอง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 201
- ↑ พระสมณกฤษฎีกาว่าด้วยเรื่องบรรดาคริสตจักรคาทอลิกตะวันออก, เอกสารแห่งสภาสังคายนาวาติกัน ที่ 2
- ↑ พระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ ฉบับ ๑๙๗๑ (ฉบับเรียงพิมพ์ใหม่ ๑๙๙๘), กรุงเทพฯ: สมาคมพระคริสตธรรมไทย, 2543, หน้า 190
- ↑ พระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ ฉบับ ๑๙๗๑ (ฉบับเรียงพิมพ์ใหม่ ๑๙๙๘), หน้า 328
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, หน้า 250
- ↑ พระฐานานุกรมของพระศาสนจักร, เอกสารแห่งสภาสังคายนาวาติกัน ที่ 2
- ↑ 7.0 7.1 วัชศิลป์ กฤษเจริญ, บาทหลวง, คาทอลิกสอนอะไร, พิมพครั้งที่ 4, ราชบุรี: ศูนย์คริสตศาสนธรรม เขตมิสซังราชบุรี, 2548, หน้า 88
- ↑ ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร บรรพ ๔ หน้าที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร, กรุงเทพฯ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, 2546, หน้า 117-9
- ↑ https://www.facebook.com/peeptheorthodox/posts/1034273960037636
- ↑ พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, หน้า 251
- ↑ โครงสร้างคริสตจักร เก็บถาวร 2015-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. คริสตจักรพิษณุโลก. เรียกข้อมูลวันที่ 22 ก.พ. พ.ศ. 2554.