ข้ามไปเนื้อหา

บริเวณกลางโบสถ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ทางเดินกลาง)
บริเวณกลางโบสถ์แบบกอธิคมองไปสู่บริเวณพิธีทางมุขตะวันออกภายในมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์และเซนต์พอลแห่งนองซ์ในประเทศฝรั่งเศส
แผนผังแสดงส่วนที่เป็น “บริเวณกลางโบสถ์” ที่เป็นสีชมพู
บริเวณกลางโบสถ์ยุคต้นเรอเนสซองซ์ในบาซิลิกาซานโลเร็นโซโดยฟีลิปโป บรูเนลเลสกี - คริสต์ทศวรรษ 1420

บริเวณกลางโบสถ์ (อังกฤษ: nave) คือช่องทางเดิน[1] (aisle) ที่ตั้งอยู่กลางคริสต์ศาสนสถานที่เริ่มตั้งแต่จากประตูทางเข้าไปสู่บริเวณพิธีและแท่นบูชาเอก ที่บางครั้งก็อาจจะขนาบด้วยช่องทางเดินข้างซ้ายขวาข้างละช่องหรืออาจจะมากกว่าก็ได้ถ้าเป็นวัดใหญ่ๆ เช่นมหาวิหารแซงต์เอเตียนน์แห่งบูร์กที่มีช่องทางเดินทั้งหมดห้าช่องที่ประกอบด้วยบริเวณกลางโบสถ์ที่ขนาบด้วยช่องทางเดินข้างๆ ละสองช่อง

ที่มาของคำ

[แก้]

ที่มาของคำว่า “บริเวณกลางโบสถ์” มาจากภาษาอังกฤษว่า “Nave” ซึ่งมาจากภาษาละติน “navis” ที่แปลว่า “เรือ” ที่อาจเป็นนัยยะถึงรูปทรงท้องเรือคว่ำของเพดานโค้งที่ตั้งอยู่เหนือบริเวณกลางโบสถ์ ซึ่งอาจจะเป็นการเปรียบเหมือนว่าคริสต์ศาสนสถานคือเรือสำหรับบรรทุกผู้ศรัทธาในพระเจ้าฝ่าอุปสรรคต่างๆในชีวิต นอกจากนั้นเพดานไม้ของวัดใหญ่ๆจะมีลักษณะเหมือนท้องเรือ [2]

สถาปัตยกรรม

[แก้]

บริเวณกลางโบสถ์เป็นเป็นส่วนประกอบของสิ่งก่อสร้างหลักภายในของคริสต์ศาสนสถานเช่นมหาวิหาร, บาซิลิกา หรือแอบบีของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์หรือสถาปัตยกรรมกอธิค บริเวณกลางโบสถ์ในสมัยกอธิคจะเน้นความยาวและความสูง เมื่อมาถึงสมัยบาโรกทรงวัดก็เปลี่ยนไปตามปรัชญาของการปฏิรูปศาสนาของนิกายโรมันคาทอลิก ที่ทำให้วัดมีลักษณะกลมขึ้นเพื่อแสดงความเสมอภาค ความยาวของบริเวณกลางโบสถ์จึงหดสั้นลงตามลำดับจนบางครั้งก็แทบจะไม่มีเหลือ แต่กระนั้นช่องทางเดินที่นำไปสู่แท่นบูชาเอกก็ยังเรียกกันว่า “บริเวณกลางโบสถ์”

การก่อสร้างสิ่งก่อสร้างเช่นคริสต์ศาสนสถานส่วนใหญ่แล้วก็จะใช้เวลาสร้างกันทีละนานๆ บางครั้งก็อาจจะเป็นร้อยๆ ปี ตามแต่งบประมาณจะอำนวย บางครั้งก็จะก่อสร้างส่วนประกอบอื่นๆ ที่ได้รับสถาปนา (consecrate) ก่อนที่จะมาสร้างบริเวณกลางโบสถ์ให้เสร็จ บางครั้งการสร้างบริเวณกลางโบสถ์ก็อาจจะไม่เสร็จตามแผนที่วางไว้แต่เดิม หรือลักษณะการก่อสร้างอาจจะเปลี่ยนไปตามรสนิยมทางสถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา การสร้างบริเวณกลางโบสถ์ก็อาจจะถูกทิ้งไว้โดยไม่ทำให้เสร็จ การก่อสร้างตัวทางเดินแบ่งเป็นช่วงๆ เป็นช่วงช่องทางเดิน (bay) แต่จะเป็นจำนวนกี่ช่วงนั้นก็แล้วแต่ขนาดและงบประมาณของวัด

ความสูงของบริเวณกลางโบสถ์ก็อาจจะสูงพอที่จะสร้างหน้าต่างชั้นบนเหนือหลังคาของส่วนที่เป็นทางเดินข้าง ลักษณะการก่อสร้างนี้มีอิทธิพลจากโครงสร้างแบบบาซิลิกาของสถาปัตยกรรมโรมันที่เป็นสิ่งก่อสร้างสำหรับใช้ในการศาลและที่พบปะเพื่อดำเนินธุรกิจของสาธารณะ

ในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ใหญ่ๆ บางครั้งก็จะมีระเบียงแคบๆ ที่ใช้เป็ทางเดินเหนือช่องทางเดินข้างที่เรียกว่าระเบียงแนบ แต่ต่อมาส่วนนี้ก็เลิกทำกันไป เพื่อที่จะสร้างทางเดินข้างให้ต่ำลงเพื่อที่จะทำให้สามารถขยายบานหน้าต่างให้กว้างและสูงขึ้นแทนที่หน้าต่างชั้นบนเช่นในมหาวิหารบาธ

จุดที่ “แขนกางเขน” (transept) ตัดขวางกับบริเวณกลางโบสถ์เรียกว่า “จุดตัด” (crossing) เหนือจุดนี้อาจจะมีเพดานเป็นโดม, โดมตะเกียง, ยอดสูงแหลม, หอสี่เหลี่ยม หรือเป็นมณฑปที่ไม่ใหญ่นักเมื่อเทียบกับสัดส่วนของวัด ถ้าเป็นโดมก็เป็นอิทธิพลมาจากคริสต์ศาสนสถานทางตะวันออกที่เข้ามาทางตะวันตกในสมัยยุคเรอเนสซองซ์เป็นครั้งแรกในงานออกแบบโดยฟีลิปโป บรูเนลเลสกีในการออกแบบบาซิลิกาซานโลเร็นโซในฟลอเรนซ์ ในการออกแบบวัดนี้บรูเนลเลสกีฟื้นฟูโครงสร้างของสถาปัตยกรรมทรงบาซิลิกาของโรมันโดยปรับปรุงรายละเอียดต่างๆ เช่นการตกแต่งเพดาน บรูเนลเลสกีใช้หน้าต่างชั้นบนในการเป็นทางให้แสงสาดลงมายังบริเวณกลางโบสถ์ที่ทำให้แตกต่างจากวัดอื่นๆ ที่ทึมมืดเพราะไม่มีช่องทางให้แสงส่องเข้ามาในวัด

การเพิ่มความสว่างของวัดนอกไปจากการใช้หน้าต่างชั้นบนแล้วก็ยังอาจจะใช้โดมที่เรียกว่า “โดมตะเกียง” (Lantern dom) ที่เป็นโดมยกลอยขึ้นไปเหนือจุดตัดและรับด้วยเสาหรือผนัง ระหว่างเสาหรือผนังก็เป็นจะเป็นหน้าต่างที่ให้แสงสาดลงมายังบริวณแขนกางเขนและบริเวณกลางโบสถ์ในบริเวณจุดตัดได้ จุดตัดอาจจะแยกจากบริเวณกลางโบสถ์ทางจักษุโดยการออกแบบให้มีลักษณะที่เด่นขึ้นหรือแตกต่างจากช่องทางเดินที่ตามปกติแล้วดูเป็นทางเดินตลอดแนวโดยไม่มีสิ่งใดมาขวางตา การสร้างความแตกต่างอาจจะทำด้วยการออกแบบให้พื้นที่ในบริเวณจุดตัดกว้างใหญ่กว่าช่วงซุ้มโค้งปกติที่แล่นมาตั้งแต่ทางเข้าและมีเพดานที่สูงกว่าสว่างกว่า ซึ่งเป็นการทำให้ดึงสายตาไปสู่บริเวณนั้น

บริเวณบริเวณกลางโบสถ์เป็นบริเวณสำหรับฆราวาสหรือผู้ที่มิใช่นักบวช (laity) ขณะที่มุขตะวันออก (Apse) ที่ประกอบด้วยบริเวณคริสต์ศาสนพิธี (chancel) และบริเวณร้องเพลงสวด (choir) เป็นบริเวณเฉพาะสำหรับนักบวช โดยมีฉากกางเขนแบ่งสองบริเวณนี้ แต่องค์ประกอบหลังนี้หายไปหลังจากการปฏิรูปคริสต์ศาสนาในคริสต์ศตวรรษที่ 16

ที่นั่งฟังเทศน์ (pew) แบบถาวรที่ตั้งสองข้างบริเวณกลางโบสถ์ที่มักจะเห็นกันอยู่ทุกวันนี้เป็นของใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาโดยโปรเตสแตนต์ ในสมัยก่อนหน้านั้นบริเวณกลางโบสถ์จะเป็นที่โล่งที่มักจะใช้เป็นที่พบปะค้าขายหรือตลาดในวันธรรมดา ฉะนั้นบริเวณกลางโบสถ์จึงอาจจะเป็นสถานที่ที่ไม่ค่อยจะสะอาดนัก ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุให้มีการสร้างฉากกางเขนขึ้นเพื่อแยกส่วนนี้ออกไปจากบริเวณของนักบวชก็เป็นได้

บริเวณกลางโบสถ์ที่น่าสนใจ

[แก้]
  • บริเวณกลางโบสถ์ที่ยาวที่สุดในสเปน: มหาวิหารเซวิลล์ ยาว 60 เมตร แบ่งเป็น 5 ช่วง

อ้างอิง

[แก้]
  1. ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน:Aisle[1] เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. W. H. Auden, "Cathedrals, Luxury liners laden with souls, Holding to the East their hulls of stone"

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ บริเวณกลางโบสถ์

ระเบียงภาพ

[แก้]