หนังสือกำหนดเทศกาล
หนังสือกำหนดเทศกาล (อังกฤษ: book of hours) เป็นหนังสือวิจิตรจากยุคกลางที่ยังหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน หนังสือกำหนดเทศกาลแต่ละเล่มก็มีลักษณะแตกต่างจากกันแต่ที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือจะเป็นหนังสือที่ประกอบด้วยข้อเขียน, บทสวดมนต์ และ เพลงสดุดี และเป็นหนังสือที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นหนังสือสวดมนต์สำหรับคริสต์ชนผู้เคร่งครัด
คำว่า “ชั่วโมง” ในคำภาษาอังกฤษสำหรับหนังสือกำหนดเทศกาลนั้น มาจากภาษาละติน ว่า “horae” แต่ถ้าเป็นหนังสือสวดมนต์ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษก็มักจะเรียกว่า “primer” หนังสือกำหนดเทศกาลมักจะเขียนเป็นภาษาละติน แต่ก็มีบ้างที่เขียนเป็นภาษาพื้นเมืองของยุโรป หนังสือจำนวนมากที่ยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันอยู่ในมือของห้องสมุดหรือของผู้สะสมส่วนบุคคล
เนื้อหา
[แก้]หนังสือกำหนดเทศกาลเป็นหนังสือสวดมนต์พิธีฉบับย่อที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับการสวดมนต์ประจำชั่วโมง (Divine Office) ที่ใช้กันตามสำนักสงฆ์ แต่หนังสือกำหนดเทศกาลเป็นหนังสือที่สร้างขึ้นสำหรับฆราวาสผู้ประสงค์ที่จะนำวิถีการปฏิบัติบางอย่างมาใช้กระทำในชีวิตประจำวันของผู้เป็นเจ้าของ ตามปกติหนังสือกำหนดเทศกาลจะประกอบด้วย:
- ปฏิทินวันฉลองต่างๆ ในคริสต์ศาสนา
- บทย่อที่เลือกคัดมาจากพระวรสาร
- หนังสือสวดมนต์พระแม่มารี (Little Office of Our Lady)
- เพลงสำนึก (Penitential Psalms) เจ็ดบท
- หนังสือสวดมนต์นักบุญ (Litany of Saints)
- หนังสือสวดมนต์รำลึกถึงผู้ตาย (Office for the Dead)
- บทสวดมนต์อื่นๆ
ประวัติ
[แก้]หนังสือกำหนดเทศกาลมีรากฐานมาหนังสือสวดมนต์สั้น (Breviary) จากคริสต์ศตวรรษที่ 12 ซึ่งนักบวชชายและหญิงต้องใช้ในสำนักสงฆ์ หนังสือสวดมนต์สั้นประกอบด้วย เพลงสดุดี, บทสวดมนต์, เพลงสรรเสริญและเพลงสวด (Antiphons) ซึ่งเปลี่ยนไปตามฤดูการทำพิธีทางศาสนา ในที่สุดส่วนที่เป็น “บทสวดมนต์เฉพาะตอน” (Little Office) ก็แยกออกมาจากหนังสือสวดมนต์สั้น และวิวัฒนาการมาเป็น “หนังสือกำหนดเทศกาล” ซึ่งตั้งตามชั่วโมงของพระแม่มารีในข้อเขียน[1] หนังสือกำหนดเทศกาลสมัยแรกแต่งขึ้นสำหรับผู้หญิงและมักจะมอบเป็นมรดกตกทอดต่อๆ กันมาภายในครอบครัว เช่นจากแม่ถึงลูกสาวซึ่งจะเห็นได้จากการที่ระบุไว้ในพินัยกรรมหลายฉบับ[2]
ความเชื่อเดิมที่ว่าผู้มีอันจะกินหรือเจ้านายเท่านั้นที่จะสามารถเป็นเจ้าของหนังสือกำหนดเทศกาลได้ แต่เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ก็มีตัวอย่างว่าชนชั้นผู้รับใช้ก็สามารถเป็นเจ้าของได้ ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีที่ถึงศาลกรณีหนึ่งที่บ่งว่าหญิงยากจนถูกกล่าวหาว่าโขมยหนังสือกำหนดเทศกาลจากสาวใช้ในบ้าน[3]
หนังสือกำหนดเทศกาลบางเล่มเขียนขึ้นสำหรับผู้เป็นเจ้าของโดยเฉพาะ โดยมีเนื้อหาที่เหมาะสมตามความต้องการของผู้เป็นเจ้าของรวมทั้งการลงชื่อในหนังสือและมีบทสวดมนต์ที่เหมาะสมกับเจ้าของด้วย บางเล่มที่ตกค้างมามีรูปเจ้าของและตราประจำตระกูล หลักฐานเหล่านี้และนักบุญที่เลือกสำหรับการฉลองในปฏิทินทำให้สามารถสันนิษฐานได้ว่าผู้เป็นเจ้าของคนแรกเป็นใครถ้าไม่มีหลักฐานอื่นที่บ่งไว้
พอมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 การผลิตหนังสือกำหนดเทศกาลก็แพร่หลายมากขึ้นในประเทศในยุโรป พอมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 การผลิตหนังสือกำหนดเทศกาลก็ยิ่งถูกลงเพราะความก้าวหน้าทางด้านการพิมพ์ ซึ่งทำให้แม้แต่ชนชั้นต่ำก็สามารถซื้อหาหนังสือกำหนดเทศกาลเป็นของตนเองได้
การตกแต่ง
[แก้]หนังสือกำหนดเทศกาลเป็นหนังสือที่มักจะตกแต่งด้วยภาพประกอบอย่างงดงามและกลายมาเป็นเอกสารสำคัญที่ไม่แต่จะมีคุณค่าทางการใช้รูปสัญลักษณ์ของคริสต์ศาสนาในยุคกลางเท่านั้น แต่ยังเป็นเอกสารที่บันทึกความเป็นอยู่ของสังคมในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 และคริสต์ศตวรรษที่ 16 ด้วย บางเล่มถึงกับตกแต่ด้วยอัญมณีบนหน้าปก หรือภาพเหมือนหรือตราประจำตระกูลของผู้เป็นเจ้าของ และภายในก็จะมีการตกแต่งด้วยภาพประกอบ ด้วยอักษรตกแต่ง หรือการตกแต่งตามริมหน้าหนังสือ บางเล่มก็หุ้มปกเป็นแบบที่เรียกว่า “หนังสือเข็มขัด” (girdle book) ที่เจ้าของสามารถห้อยกับเข็มขัดพกติดตัวไปไหนมาไหนง่าย บางเล่มเช่น “หนังสือกำหนดเทศกาลทาลบ็อต” ของ จอห์น ทาลบ็อต ดยุคแห่งชรูสบรีที่ 1 มีภาพเหมือนของเจ้าของและภรรยาที่คุกเข่าชื่นชมพระแม่มารีและพระบุตรด้วย นอกจากนั้นก็อาจจะตกแต่งประกอบด้วยภาพชุดเช่นภาพชุดจาก แรงงานประจำเดือน (Labours of the Months), หรือภาพชุดจาก “ชีวิตของพระแม่มารี” หรือภาพชุดจากทุกขกิริยาของพระเยซู (Passion of Christ) 8 ภาพสำหรับบทสวดมนต์ 8 บทใน หนังสือสวดมนต์พระแม่มารี
เนื้อหาของหนังสือกำหนดเทศกาลมิได้ตายตัวกับเจ้าของคนแรก เจ้าของคนต่อๆ มาอาจจะขยายเพิ่มภายหลัง เช่นเมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 7 ทรงได้รับชัยชนะต่อพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 พระองค์ก็พระราชทานหนังสือกำหนดเทศกาลของพระเจ้าริชาร์ดให้แก่พระมารดาผู้ทรงลงพระนามแสดงความเป็นเจ้าของ สิ่งที่มักจะได้รับการเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่งคือตราประจำตระกูลของผู้เป็นเจ้าของใหม่ หนังสือบางเล่มที่เหลืออยู่ในปัจจุบันบางเล่มก็จะมีบันทึกของผู้เขียนตามขอบหรือความเห็นส่วนตัวบ้าง หรือบางครั้งเจ้าของใหม่ก็อาจจะจ้างช่างเขียนมาเพิ่มเนื้อหาหรือภาพประกอบเช่นเซอร์ทอมัส ลูว์คนอร์จ้างให้เพิ่มภาพประกอบจนกลายเป็นหนังสือที่รู้จักกันในชื่อ “หนังสือกำหนดเทศกาลลูว์คนอร์” (Lewkenor Hours) นอกไปจากบันทึกทางศาสนาแล้วบางทีก็จะมีหมายเหตุเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายภายในบ้าน หรือวัดเกิดวันเสียชีวิตของคนในบ้านหรือลายเซ็นของแขกที่มาเยี่ยมเป็นต้น
ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ผู้พิมพ์หนังสือกำหนดเทศกาลก็เริ่มใช้ภาพประกอบจากที่เป็นภาพพิมพ์แกะไม้ และสามารถพิมพ์ต้นฉบับเป็นหนังโดยมีภาพประกอบที่เรียบๆ ได้ทีละเป็นจำนวนมาก เมื่อพิมพ์เสร็จก็จะจ้างทำภาพประกอบที่ให้เหมาะสมกับผู้ซื้อได้อย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างหนังสือกำหนดเทศกาล
[แก้]หนังสือกำหนดเทศกาลที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดและมีการตกแต่งมากที่สุดคือหนังสือ “หนังสือกำหนดเทศกาลดยุคแห่งแบร์รี” ที่เขียนและตกแต่งระหว่างปี ค.ศ. 1412 ถึงปี ค.ศ. 1416 ใน ประเทศฝรั่งเศสสำหรับจอห์น ดยุคแห่งแบร์รี
“หนังสือกำหนดเทศกาลเบรลส์” (De Brailes Hours) เขียนและตกแต่งราวปี ค.ศ. 1240 เป็นหนังสือกำหนดเทศกาลที่เก่าที่สุดที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ภายในมีภาพสี่ภาพที่อาจจะเป็นภาพของเจ้าของคนแรก
หนังสือสวดมนต์รอธชาล์ยด์
[แก้]“หนังสือสวดมนต์รอธชาล์ยด์” (The Rothschild Prayerbook) เขียนและตกแต่งราวปี ค.ศ. 1505 เดิมเป็นของหลุยส์ นาเธเนียล ฟอน รอธชาล์ยด์ แต่มาถูกนาซียึดจากสมาชิกในตระกูลรอธชาล์ยด์ที่พำนักอยู่ในออสเตรียในปี ค.ศ. 1938 หลังจากที่นาซีเข้ายึดครองประเทศออสเตรีย ในที่สุดหลังจากการเรียกร้องโดยเบ็ตตินา ลูแรม-รอธชาล์ยด์ รัฐบาลออสเตรียก็มอบ “หนังสือสวดมนต์รอธชาล์ยด์” คืนให้แก่ครอบครัวในปี ค.ศ. 1999 เบ็ตตินาประมูลขายที่ลอนดอนในราคา $13,400,000 (ประมาณ 402,000,000 บาท) เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1999
หนังสือกำหนดเทศกาลคอนนอลลี
[แก้]“หนังสือกำหนดเทศกาลคอนนอลลี” (Connolly Book of Hours) เขียนและตกแต่งระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นตัวอย่างของหนังสือที่เจ้าของมิได้เป็นชนชั้นเจ้านาย
-
หนังสือกำหนดเทศกาล
Jeanne d'Evreux -
หนังสือกำหนดเทศกาล
ซิโมน เด วารี
(Simon de Varie) -
หนังสือกำหนดเทศกาลจาก
หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ
แสดงภาพเจ้าของ
และเทวดาผู้พิทักษ์ -
หนังสือกำหนดเทศกาล
ดยุคแห่งแบร์รี:
พระเยซูแบกกางเขน -
หนังสือกำหนดเทศกาล
ดยุคแห่งแบร์รี:
งานศพ
อ้างอิง
[แก้]- “อ็อกฟอร์ดพจนานุกรมศิลปะ” ISBN 0-19-280022-1
- อีมัน ดัฟฟี, “The Stripping of the Altars: Traditional Religion in England 1400-1580” (เยล, ค.ศ. 1992) ISBN 0-300-06076-9
- อีมัน ดัฟฟี, “A Very Personal Possession” (“History Today” พฤศจิกายน ค.ศ. 2006)
- จอห์น ฮาร์ธัน “หนังสือกำหนดเทศกาล: พร้อมทั้งการสำรวจทางประวัติศาสตร์และความคิดเห็นโดยจอห์น ฮาร์ธัน”: นิวยอร์ก: โครเวลล์, ค.ศ. 1977
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ “หนังสือกำหนดเทศกาล” วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ หนังสือวิจิตร
- (อังกฤษ) *หนังสือกำหนดเทศกาลไฮเปอร์เท็กซ์; เนื้อหาและคำแปล
- (อังกฤษ) หนังสือวิจิตรจากยุคกลาง เก็บถาวร 2008-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน