อาแดลแห่งนอร์ม็องดี
อาแดลแห่งนอร์ม็องดี | |
---|---|
เคานเตสแห่งบลัวส์ | |
ดำรงพระยศ | ค.ศ. 1089 – 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1102 |
ประสูติ | ค.ศ. 1067 นอร์ม็องดี ประเทศฝรั่งเศส |
สิ้นพระชนม์ | 8 มีนาคม ค.ศ. 1137 (อายุ 69–70) มาร์ซินญี-ซูร์-ลัวร์ ประเทศฝรั่งเศส |
สวามี | เอเตียงที่ 2 เคานต์แห่งบลัวส์ |
พระบุตร | กีโยม เคานต์แห่งซุลลี อูเดส์แห่งบลัวส์ |
ราชวงศ์ | นอร์ม็องดี |
พระบิดา | วิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ |
พระมารดา | มาทิลดาแห่งฟลานเดอร์ส์ |
อาแดล (ฝรั่งเศส: Adèle) หรือ อาแดลแห่งนอร์ม็องดี (อังกฤษ: Adela of Normandy) เป็นพระธิดาของพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษกับมาทิลดาแห่งฟลานเดอร์ส์ ประสูติราวปี ค.ศ. 1167 อาจจะในนอร์ม็องดี พระองค์เป็นมารดาของพระเจ้าสตีเฟนแห่งอังกฤษที่ต่อสู้ในสงครามกลางเมืองอันยาวนานที่รู้จักกันในชื่อ ช่วงอนาธิปไตยของอังกฤษ เพื่อแย่งชิงบัลลังก์อังกฤษกับจักรพรรดินีมาทิลดา บุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่ของพระเจ้าเฮนรีที่ 1 แห่งอังกฤษ ซึ่งลูกพี่ลูกน้องลำดับที่ 1 ของตนเอง
ประวัติ
[แก้]อาแดลแห่งนอร์ม็องดีประสูติในช่วงลายปี ค.ศ. 1067 ถึงช่วงต้นปี ค.ศ. 1068 ทรงเป็นพระธิดาของพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิตกับพระราชินีมาทิลดาแห่งแฟลนเดอส์ ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตของพระองค์ช่วงก่อนแต่งงานมีไม่มาก พระองค์อาจเชี่ยวชาญในภาษาละตินเนื่องจากทรงได้รับการยกย่องด้านความสามารถในการอ่านและเรียบเรียงภาษาละติน พระองค์อาจถูกหมายมั่นให้เป็นแม่ชีที่วิหารพระตรีเอกานุภาพในก็องที่เซซิเลีย พระเชษฐภคินีพำนักอยู่ และเป็นไปได้ว่าพระองค์เคยอยู่ในครัวเรือนของพระมารดาอยู่ช่วงหนึ่ง
อาแดลมีพี่น้องชายสี่คนกับพี่น้องหญิงอย่างน้อยสี่คน แม้จะมีภาระหน้าที่ในฐานะกษัตริยา แต่มาทิลดา พระมารดาของอาแดลใส่ใจดูแลเรื่องการเลี้ยงดูพระโอรสธิดาและเป็นที่รู้กันว่าทุกคนได้รับการศึกษาอย่างดี อาแดลใกล้ชิดสนิทสนมกับอนาคตพระเจ้าเฮนรีที่ 1 แห่งอังกฤษ พี่น้องชายของพระองค์ อาจจะเพราะทั้งคู่เป็นบุตรคนเล็กในครอบครัวและทั้งคู่เป็นเพียงสองคนที่ประสูติหลังการพิชิตอังกฤษของพระบิดาในปี ค.ศ. 1066
อาแดลปรากฏชื่อในบันทึกทางประวัติศาสตร์ในฐานะภรรยาของสตีเฟน-อ็องรี บุตรชายคนโตของธิโบต์ที่ 3 เคานต์แห่งบลัวส์ นักพงศาวดาร ออร์เดอริก วิทาลิส กล่าวว่าพระบิดาของอาแดลอยากเป็นพันธมิตรกับธิโบต์ที่ 3 เคานต์แห่งบลัวส์ จึงจับอาแดลแต่งงานกับเอเตียง บุตรชายคนโตของธิโบต์ แม้วันแต่งงานของทั้งคู่จะไม่แน่ชัด แต่ทั้งคู่แต่งงานกันที่ชาตร์ หนึ่งในนครสำคัญของเคานตีบลัวส์ อาจจะเป็นในปี ค.ศ. 1083 หลังพ่อสามีของพระองค์เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1089 สามีของพระองค์สืบทอดตำแหน่งต่อเป็นเคานต์แห่งบลัวส์ ในตอนนั้นเขาอายุสี่สิบต้นๆ แล้ว ในขณะที่อาแดลมีพระชนมายุราว 22 พรรษา แม้อายุของทั้งคู่จะต่างกัน แต่จดหมายที่เขาเขียนถึงพระองค์ซึ่งยังเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบันทำให้สันนิษฐานว่าทั้งคู่มีความสัมพันธ์ที่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน, เคารพกัน และอาจจะรักกัน จดหมายที่เอเตียงเขียนถึงพระองค์ในช่วงที่ทำสงครามครูเสดเหลือรอดอยู่สองฉบับ ในจดหมายเขาเรียกอาแดลว่า "เพื่อนและภรรยาผู้เป็นสุดที่รัก" และ "ยอดรักของข้า"
อาแดลกับเอเตียงมีบุตรด้วยกัน 10 คน คือ
- กีโยม เคานต์แห่งซุลลี (ค.ศ. 1085 – 1150) แต่งงานกับแอนเญ็สแห่งซุลลี มีทายาท
- ธิโบต์ที่ 2 เคานต์แห่งช็องปาญ (ค.ศ. 1090 – 1152) แต่งงานกับมาทิลเดอแห่งคารินเธีย มีทายาท
- อูเดส์แห่งบลัวส์ เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก
- อาแดล แต่งงานกับมิโลที่ 2 แห่งมงเธอรี หย่าในปี ค.ศ. 1115
- เอเตียงหรือพระเจ้าสตีเฟนแห่งอังกฤษ (ค.ศ. 1092/6 – 1154) แต่งงานกับมาทิลดาแห่งบูโลญ มีทายาท
- ลูเซีย-มาเฮาต์ (ตายปี ค.ศ. 1120) แต่งงานกับริชาด์ ดาฟรองช์ส์ เอิร์ลที่ 2 แห่งเชสเตอร์ ทั้งคู่จมน้ำตายในโศกนาฏกกรรมเรือขาว
- แอนเญ็ส แต่งงานกับอูก เดอ ปุยเซต์ มีทายาท
- อาลิกซ์ (ตายปี ค.ศ. 1145) แต่งงานกับเรโนลด์ที่ 2 แห่งจวนญี มีทายาท
- อ็องรีแห่งบลัวส์ บิชอปแห่งวินเชสเตอร์ (ค.ศ. 1101 – 1171)
- เอลีโอนอร์ (เสียชีวิตปี ค.ศ. 1147) แต่งงานกับราอูลที่ 1 เคานต์แห่งแวร์ม็องดัวส์ มีทายาท หย่าร้าง
บางครั้งอาแดลกับสามีก็ออกเอกสารร่วมกันทำให้สันนิษฐานได้ว่าพระองค์น่าจะมีบทบาทในเคานตีอยู่บ้าง ซึ่งอาจเป็นเพราะสามีของพระองค์ยอมรับในความสามารถของพระองค์ หรือไม่ก็เป็นเพราะพระธิดาของกษัตริย์อย่างพระองค์มีฐานะทางสังคมที่ทรงอำนาจกว่าสามี พระองค์ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินสองครั้งในช่วงที่สามีไปทำสงครามครูเสด
เอเตียงเดินทางไปดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในปี ค.ศ. 1096 พร้อมกับโรเบิร์ต เคอร์โธส ดยุคแห่งนอร์ม็องดี พระเชษฐาของอาแดล เพื่อร่วมรบในสงครามครูเสดครั้งที่ 1 ระหว่างการปิดล้อมอันทิออค เอเตียงกับผู้นำครูเสดคนอื่นๆ เห็นว่าพวกตนกำลังตกที่นั่งลำบากและต้องพ่ายแพ้เป็นแน่จึงทิ้งสหายร่วมรบ เอเตียงกลับบ้านเกิดในปี ค.ศ. 1098 โดยทำตามคำปฏิญาณแห่งการทำครูเสดไม่สำเร็จ
เพราะกลับมาโดยที่ยังทำตามคำปฏิญาณไม่สำเร็จ เอเตียงจึงถูกอาแดลกดดันให้เข้าร่วมสงครามครูเสดในปี ค.ศ. 1101 หรือครูเสดของคนขี้ขลาดตาขาว เพราะผู้เข้าร่วมสงครามครูเสดครั้งนี้หลายคนคือคนที่หันหลังกลับมาจากสงครามครูเสดครั้งที่ 1 เอเตียงไปถึงเยรูซาเล็ม แต่ครั้งนี้แทนที่จะกลับบ้านหลังบรรลุเป้าหมาย เขากลับเลือกที่จะอยู่สู้ต่อ วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1102 ระหว่างทำสมรภูมิรัมลาครั้งที่ 2 เอเตียงที่ 2 เคานต์แห่งบลัวส์ถูกจับกุมตัวหลังถูกปิดล้อมในหอคอยประจำเมืองและถูกตัดหัวตอนอายุ 57 ปี แต่กว่าข่าวจะมาถึงฝรั่งเศสก็ในอีกหนึ่งปีต่อมา
อาแดลอยู่ในวัยเพียงสามสิบกลางๆ ตอนที่กลายเป็นม่าย กีโยม บุตรชายคนโตของพระองค์ยังเด็กและไร้ประสบการณ์ แต่ทรงยกอำนาจทั้งหมดให้บุตรชาย แต่สุดท้ายตำแหน่งเคานต์แห่งบลัวส์กลับกลายเป็นของธิโบต์ บุตรชายคนรองเนื่องจากอาแดลมองว่าเขาจะเป็นผู้ปกครองที่ดีกว่า กีโยมมีฉายาว่ากีโยมผู้สมองทึบ เขาอาจมีความบกพร่องทางจิต แต่ก็กลายเป็นทายาทในตำแหน่งเคานต์แห่งซุลลีหลังแต่งงานกับบุตรสาวของเคานต์แห่งซุลลี ในตอนนั้นเฮนรี พี่น้องชายของอาแดลกลายเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษและพระองค์ยังคงติดต่อใกล้ชิดกับราชสำนักอังกฤษ ธิโบต์กับสตีเฟน น้องชาย ไปเยือนราชสำนักของลุงในอังกฤษ ขณะที่อาแดลตระเวนไปทั่วดินแดนตะวันออกของตน โศกนาฏกรรมเรือขาวในปี ค.ศ. 1120 ไม่เพียงคร่าชีวิตของวิลเลียม อาเดอลิน พระโอรสคนเดียวและทายาทของพระเจ้าเฮนรีที่ 1 พี่น้องชายของอาแดล แต่ยังพรากชีวิตของมาทิลเดอ บุตรสาวของอาแดลไปด้วย
ปี ค.ศ. 1120 พระองค์ตัดสินใจไปเป็นแม่ชีในศาสนสำนักของพระตรีเอกานุภาพแห่งมาร์ซินญี-เลส์-โนนองส์ในมาร์ซินญี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในแคว้นบูร์กอญของประเทศฝรั่งเศส มีหลักฐานว่าอาแดลทำหน้าที่เป็นหัวหน้าแม่ชี แม้อาแดลจะใช้ชีวิตเป็นแม่ชี แต่พระองค์ไม่ได้ละทางโลกแบบเต็มรูปแบบ พระองค์ยังคงมีอิทธิพลและติดต่อกับลูกๆ กับผู้นำทางการเมืองและผูนำทางศาสนาในดินแดนที่ตนเคยปกครอง อาแดลสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1137 ด้วยพระชนมายุ 69–70 พรรษาที่ศาสนสำนักของพระตรีเอกานุภาพแห่งมาร์ซินญี-เลส์-โนนนองส์ ร่างของพระองค์ถูกฝังที่วิหารพระตรีเอกานุภาพในก็อง นอร์ม็องดี ใกล้กับหลุมฝังศพของพระมารดา โดยมีคำจารึกบนหลุมฝังศพว่า "อาแดล ฟีลล์ ดู รัว (พระธิดาของกษัตริย์)"