เขื่อนอิไตปู
เขื่อนอิไตปู (Itaipú) เป็นเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่ซึ่งในอดีตจัดได้ว่าเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก[1] ก่อนที่เขื่อนสามหุบเขาของจีนจะแล้วเสร็จ เขื่อนอิไตปูสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1984 แล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1988
คำว่าอิไตปู แปลว่า"เสียงเพลงจากก้อนหิน"มาจากภาษากวารานิ (Guarani) ชาวอินเดียนแดงเผ่าดั้งเดิม
เขื่อนอิไตปูกั้นแม่น้ำปารานาบริเวณเขตแดนระหว่างประเทศบราซิลกับประเทศปารากวัย จึงทำให้เขื่อนนี้เป็นทั้งผนังกันน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสองประเทศอีกด้วย เขื่อนอิไตปูเป็นเขื่อนคอนกรีตชนิดเขื่อนแบบกลวง มีขนาดความสูง 180 เมตร มีความยาวกว่า 8 กิโลเมตร ใช้คอนกรีตในการสร้างกว่า 28 ล้านตัน ซึ่งสามารถสร้างสนามฟุตบอลได้ 210 สนาม และใช้เหล็กมากขนาดสร้างหอไอเฟลได้ 380 หอเลยทีเดียว เมื่อสร้างเสร็จด้านเหนือเขื่อนจึงเกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีเนื้อที่กว่า 1,550 ตารางกิโลเมตร ระยะทางยาวลึกขึ้นไปทางเหนือเขื่อนอีกกว่า 160 กิโลเมตร มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 18 เครื่อง มีกำลังการผลิต 12,600 เมกะวัตต์ จึงสามารถจ่ายไฟให้กับประเทศปารากวัยได้ทั้งประเทศรวมทั้งเมืองใหญ่ของบราซิลทั้งกรุงเซาเปาโล และนครรีโอเดจาเนโร ได้อย่างสบาย แต่ภายหลังได้มีโครงการเพิ่มเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็น 20 เครื่อง ภายในปี 2550 และสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 14,000 เมกะวัตต์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Itaipú Dam: The world's largest hydroelectric plant". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-19. สืบค้นเมื่อ 2008-05-29.