วันอังคาร, ตุลาคม 22, 2562

มารู้จัก สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ องค์จักรพรรดินักวิชาการและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้นำพาญี่ปุ่นสู่อนาคต




สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะนั้น ถือได้ว่าทรงเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีพระจริยวัตรแตกต่างออกไปจากองค์สมเด็จพระจักรพรรดิและพระราชวงศ์ญี่ปุ่นรุ่นก่อน ๆ โดยทรงให้ความสำคัญกับชีวิตครอบครัวส่วนพระองค์และงานวิชาการที่ทรงโปรดปรานมาเป็นอันดับแรก ทำให้ผู้คนต่างพากันจับตาดูว่า จะทรงนำพาความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ตามกระแสโลกมาสู่สถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงว่าจะต้องทรงดำเนินรอยตามแนวทางดั้งเดิมที่พระราชบิดาได้ทรงวางไว้เป็นหลักเสียก่อน

องค์จักรพรรดินักวิชาการและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะทรงมีพระชนมพรรษา 59 พรรษา เสด็จขึ้นครองบัลลังก์ดอกเบญจมาศในสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากพระราชบิดาเมื่อ 30 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากไม่ต้องทรงรับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารแต่แรกประสูติเหมือนสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ทำให้ทรงมีช่วงเวลาในวัยเยาว์ที่อิสระเสรีมากพอจะทรงเลือกศึกษาวิชาต่าง ๆ ตามที่สนพระทัยได้

จักรพรรดิญี่ปุ่น : สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะมีพระราชโองการสละราชสมบัติแล้ว
เหตุใดสมเด็จพระจักรพรรดิจึงสละราชสมบัติ ?
จักรพรรดิญี่ปุ่น : ความเป็นมา ความหมาย และหมายกำหนดการ พระราชพิธีขึ้นครองราชย์


หลังทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยกะกุชูอิง ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาสำหรับวงสังคมชั้นสูงของญี่ปุ่นแล้ว ได้เลือกเสด็จไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับบัณฑิตศึกษา ที่วิทยาลัยเมอร์ตันของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดแห่งสหราชอาณาจักรเป็นเวลาสองปี ระหว่างปี 1983-1985 โดยทรงศึกษาประวัติศาสตร์การคมนาคมทางน้ำในแม่น้ำเทมส์


AFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพปัจจุบันพระองค์สนพระทัยทรงงานด้านการแก้ไขปัญหาเรื่องแหล่งน้ำของโลก


ช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ทรงเป็นนักศึกษาที่อ็อกซ์ฟอร์ด ได้รับการจดบันทึกไว้ในสมุดบันทึกส่วนพระองค์ว่าเป็นเวลาที่ทรง "มีความสุขมากที่สุดในชีวิต" ซึ่งต่อมาบันทึกนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและตีพิมพ์เผยแพร่ในชื่อ "แม่น้ำเทมส์กับข้าพเจ้า: ความทรงจำสองปีที่อ็อกซ์ฟอร์ด" (The Thames and I: A Memoir of Two Years at Oxford ) ซึ่งหนังสือกล่าวถึงประสบการณ์ที่ทรงซักผ้าด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรกจนเกือบจะทำให้น้ำท่วมห้อง และเรื่องขำขันที่พระสหายร่วมชั้นเรียนเรียกพระองค์ด้วยพระนามลำลองภาษาญี่ปุ่นว่า "เด็งกิ" (ไฟฟ้า) แทนที่จะเป็น "เด็งกะ" (ฝ่าพระบาท)

ความสนพระทัยในการศึกษาเรื่องแหล่งน้ำของพระองค์ขยายวงกว้างมากขึ้น เมื่อได้ทรงงานวิจัยต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยกะกุชูอิงอีกครั้ง ซึ่งในขณะนั้นทรงได้รับการสถาปนาเป็นองค์มกุฎราชกุมารแล้วเมื่อปี 1991

นายเคนโซ ฮิโรกิ อดีตรัฐมนตรีด้านการจัดการที่ดินซึ่งมีความใกล้ชิดกับสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะเล่าว่า ทรงเริ่มมีความสนพระทัยในประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด หลังจากที่ทรงทอดพระเนตรเห็นเด็กและสตรีจำนวนมากพากันมาเข้าแถว เพียงเพื่อรอตักน้ำในบ่อที่มีอยู่จำกัดใส่หม้อและภาชนะของตนกลับบ้าน ระหว่างการเสด็จเยือนเมืองโพคาราของเนปาลเมื่อปี 1987

ปัจจุบันพระองค์ได้ทรงงานอย่างกว้างขวางเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องแหล่งน้ำของโลก โดยทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของคณะกรรมการที่ปรึกษาเรื่องน้ำและสุขอนามัยของสหประชาชาติ ระหว่างปี 2007-2015

ศูนย์รวมใจและความหวังของญี่ปุ่นยุคใหม่

ก่อนหน้านี้สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะได้ทรงแสดงให้ผู้คนเห็นว่า พระองค์มีความพร้อมในการรับช่วงต่อพระราชภาระอันหนักอึ้งจากพระราชบิดาและพระราชมารดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปรับปรุงสถาบันจักรพรรดิให้มีความเป็นสมัยใหม่และใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น โดยเคยมีพระราชดำรัสในปี 2017 ว่าจะทรงดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทของสมเด็จพระจักรพรรดิเฮเซและสมเด็จพระจักรพรรดินีพันปีหลวง ซึ่งทรง "ยืนหยัดใกล้ชิดกับพสกนิกร" มาโดยตลอด




แต่อย่างไรก็ตาม ทรงเคยมีความขัดแย้งในอดีตกับบรรดาข้าราชสำนักของพระราชวังหลวง ซึ่งล้วนมีความเคร่งครัดในกรอบจารีตประเพณีอย่างยิ่ง ทำให้มีพระราชประสงค์ที่จะนำ "กระแสความเปลี่ยนแปลงใหม่" เข้ามาในสถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่นในหลายประเด็น

5 เกร็ดน่ารู้ เกี่ยวกับสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น
จาก "สับสน" สู่ "ซาบซึ้ง" ความทรงจำของเหยื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ในโอกินาวา
หนุ่มสาวญี่ปุ่นคาดหวังอะไรในรัชสมัยใหม่ "เรวะ"

นอกจากนี้ ทรงเคยแสดงความสนพระทัยในประเด็นการเมืองเรื่องประวัติศาสตร์ของสงครามและสันติภาพ แม้ว่าภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว สมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่นจะต้องอยู่เหนือการเมืองก็ตาม โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2015 ช่วงที่ใกล้ครบรอบ 70 ปีหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะซึ่งยังดำรงพระยศเป็นองค์มกุฎราชกุมารในขณะนั้นตรัสว่า "เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมองย้อนกลับไปในอดีตอย่างไม่ทะนงตน และถ่ายทอดประสบการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมในช่วงสงครามอย่างถูกต้อง"

มีผู้ตีความพระราชดำรัสของพระองค์ว่า เป็นคำเตือนที่ส่งถึงบรรดานักการเมืองชาตินิยมที่ต้องการปรับเปลี่ยนมุมมองทางประวัติศาสตร์สมัยสงครามของญี่ปุ่นเสียใหม่ คนกลุ่มนี้เองที่ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่น ซึ่งกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง เช่นการแก้ไขปัญหาการสืบสันตติวงศ์เนื่องจากขาดแคลนรัชทายาทที่เป็นชาย รวมทั้งการแก้ไขเรื่องจำนวนสมาชิกราชวงศ์ที่ลดลง เนื่องจากพระราชวงศ์หญิงต้องลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปเมื่อสมรสกับสามัญชน

ยืนหยัดปกป้องพระชายาคู่ชีวิต



REUTERS
คำบรรยายภาพสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะทรงยืนหยัดปกป้องพระชายาจากการถูกกดดันโจมตีมาโดยตลอด


สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ทรงได้พบกับนางสาวมาซาโกะ โอวาดะ พระชายาในอนาคตเป็นครั้งแรก หลังเสด็จนิวัติญี่ปุ่นในปี 1986 โดยนางสาวโอวาดะซึ่งพูดภาษาต่างประเทศได้อย่างคล่องแคล่วหลายภาษา เป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่พูดจาฉาดฉาน และเพิ่งผ่านการสอบที่ยากที่สุดเพื่อเตรียมก้าวขึ้นเป็นนักการทูตชั้นนำของญี่ปุ่น

ทั้งสองใช้เวลาพูดคุยดูใจกันค่อนข้างนาน โดยความล่าช้าที่เกิดขึ้น มาจากการที่นางสาวโอวาดะกังวลเรื่องการใช้ชีวิตภายในสถาบันจักรพรรดิที่มีความอนุรักษ์นิยมสูงของญี่ปุ่น แต่ในปี 1993 เธอก็ตกลงที่จะเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับองค์มกุฎราชกุมารในขณะนั้น



AFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพในปี 2001 ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระธิดาคือเจ้าหญิงไอโกะ


นางสาวโอวาดะซึ่งได้รับสถาปนาเป็นเจ้าหญิงมาซาโกะ พระชายาในองค์มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ ต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากสำนักพระราชวังในการเร่งให้ทรงมีพระรัชทายาท รวมทั้งการเข้ามา "พยายามปรับแก้" ลักษณะนิสัยของพระองค์ในการปฏิบัติพระกรณียกิจต่าง ๆ จนทำให้ทรงเครียดและแท้งพระครรภ์แรกไปในที่สุด เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้องค์มกุฎราชกุมารทรงตำหนิสื่อมวลชนและข้าราชสำนักอย่างเปิดเผย ในเรื่องที่เข้ามาจุ้นจ้านวุ่นวายจนเกินไป

ในปี 2001 ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระธิดาคือเจ้าหญิงไอโกะ แต่ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการสืบสันตติวงศ์แต่อย่างใด หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหญิงมาซาโกะก็ทรงเริ่มไม่เสด็จออกหรือปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชนเป็นเวลานานเกือบ 10 ปี ทรงอ่อนล้าหมดกำลังพระวรกายเนื่องด้วยทรงระทมทุกข์จาก "อาการผิดปกติในการปรับพระองค์" ซึ่งปัจจุบันเชื่อกันว่าหมายถึงภาวะซึมเศร้า

แรงกดดันเรื่องการให้กำเนิดรัชทายาทเพื่อสืบราชบัลลังก์ผ่อนคลายลงในปี 2006 เมื่อเจ้าชายฟุมิฮิโตะ พระอนุชาขององค์มกุฎราชกุมารทรงมีพระโอรสคือเจ้าชายฮิซะฮิโตะ ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเจ้าหญิงมาซาโกะกลับมาปรากฏพระองค์ต่อสาธารณะบ่อยครั้งขึ้น

ตลอดช่วงเวลาที่สมเด็จพระจักรพรรดินีพระองค์ใหม่ประชวรด้วยปัญหาสุขภาพจิต สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะได้ทรงยืนหยัดเคียงข้างเป็นกำลังใจ และทรงปกป้องพระชายาจากการถูกกดดันโจมตีมาโดยตลอด ถือเป็นแบบอย่างของชายชาวญี่ปุ่นยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวมาเป็นลำดับแรกกันมากขึ้น ทั้งยังทรงดูแลพระราชธิดาด้วยพระองค์เองระหว่างที่พระชายาทรงประชวรอีกด้วย