พระเจ้าอาฟงซูที่ 1 แห่งโปรตุเกส
พระเจ้าอาฟงซูที่ 1 แห่งโปรตุเกส | |
---|---|
พระบรมสาทิสลักษณ์ใน "ประมวลพระราชพงศาวดารพระมหากษัตริย์" ประมาณปี ค.ศ. 1312-1325 | |
พระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกส | |
ครองราชย์ | 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1139 – 6 ธันวาคม ค.ศ. 1185 |
พิธีอวยองค์ | 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1139 |
ถัดไป | พระเจ้าซังชูที่ 1 |
เคานต์แห่งโปรตุเกส | |
ครองราชย์ | ค.ศ. 1112 – 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1139 |
ก่อนหน้า | เอ็งรีกึ |
ปกครองร่วมกับ | เตเรซา (ค.ศ. 1112–1128)[1] |
ผู้สำเร็จราชการ | เตเรซา (ค.ศ. 1112–1128) |
พระราชสมภพ | ค.ศ. 1106, 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1109, สิงหาคม ค.ศ. 1109 หรือ 1111 กีมาไรช์ (หรือ วีเซว) อาฟงซู เอ็งรีกึช[ต้องการอ้างอิง] |
สวรรคต | 6 ธันวาคม ค.ศ. 1185 (ประมาณ 73–79 พรรษา) กูอิงบรา ราชอาณาจักรโปรตุเกส |
ฝังพระศพ | สุสานซางตาครูซ กูอิงบรา |
คู่อภิเษก | มาตีลด์แห่งซาวอย (สมรส 1146; เสียชีวิต 1157) |
พระราชบุตร | อูร์รากาแห่งโปรตุเกส พระราชินีแห่งเลออน ตึเรซาแห่งโปรตุเกส เคาน์เตสแห่งฟลานเดอส์ มาฟัลดา พระเจ้าซังชูที่ 1 แห่งโปรตุเกส |
ราชวงศ์ | บูร์กอญ |
พระราชบิดา | เอ็งรีกึ เคานต์แห่งโปรตุเกส |
พระราชมารดา | เตเรซาแห่งเลออน เคาน์เตสแห่งโปรตุเกส |
พระเจ้าอาฟงซูที่ 1 (โปรตุเกส: Afonso I), อาฟงซู เอ็งรีกึช (Afonso Henriques) หรือ อาฟงซูผู้พิชิต (Afonso o Conquistador) เสด็จพระราชสมภพ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1106/1109 หรือไม่ก็เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1109/1111 สิ้นพระชนม์ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1185 ปฐมกษัตริย์แห่งโปรตุเกส ผู้พิชิตซังตาไรและลิสบอนมาจากชาวมุสลิม และประกาศเอกราชให้ราชอาณาจักรโปรตุเกสที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรเลออน พระองค์สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์กาเปเซียง
วัยเยาว์
[แก้]พระเจ้าอาฟงซูที่ 1 พระราชสมภพเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1109 บุตรชายของอ็องรีแห่งบูร์กอญกับเตเรซา บุตรสาวนอกสมรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 แห่งเลออนและกัสติยา และเป็นหลานชายของรอแบร์ ดยุกแห่งบูร์กอญ เสด็จพระราชสมภพเมื่อบิดาได้เป็นเคานต์แห่งโปรตุเกส หลังจากช่วยเหลือกษัตริย์แห่งกัสติยาขับไล่ชาวมุสลิม บิดามารดาของพระองค์เป็นเคานต์และเคาน์เตสแห่งโปรตุเกสร่วมกันจนกระทั่งอ็องรีเสียชีวิตในวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1112 ในช่วงระหว่างปิดล้อมอัสตอร์กา[2] เตเรซาจึงปกครองต่อตามลำพัง[3] เนื่องจากอาฟงซูมีพระชนมายุเพียง 3 พรรษา
เตเรซา มารดาของพระองค์ต้องการได้ส่วนแบ่งในราชอาณาจักรเลออนอันเป็นมรดกเพิ่ม จึงตั้งกองทัพร่วมกับเฟร์นันโด เปเรซ เด ตราบา เคานต์ผู้ทรงอำนาจที่สุดในราชอาณาจักรกาลิเซีย[4] ขุนนางโปรตุเกสไม่ชอบใจที่โปรตุเกสผูกมิตรกับกาลิเซียจึงหันมาสนับสนุนอาฟงซู ในปี ค.ศ. 1122 อาฟงซูมีพระชนมายุครบ 14 พรรษา ซึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถือว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว ในปี ค.ศ. 1127 พระองค์ร่วมมือกับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 ต่อกรกับเตเรซา ทรงก่อปฏิวัติและยึดการปกครองมาจากมารดา
เคานต์แห่งโปรตุเกส
[แก้]ในปี ค.ศ. 1128 ที่สมรภูมิเซามาแมดือ ใกล้กับกีมาไรช์ อาฟงซูและผู้สนับสนุนสามารถคว้าชัยเหนือเตเรซากับคนรัก เคานต์เฟร์นันโด เปเรซ เด ตราบาแห่งกาลิเซีย อาฟงซูขับไล่มารดาไปอยู่ที่กาลิเซียและยึดอำนาจปกครองเคาน์ตีโปรตุเกส[5] เคาน์ตีได้แยกตัวออกมาจากราชอาณาจักรกาลิเซีย โดยมีอาฟงซูเป็นผู้ปกครองแต่เพียงผู้เดียวและเรียกร้องเอกราชในเวลาต่อมา มีการปฏิวัติเกิดขึ้นหลายครั้งในกัสติยาซึ่งในเวลานั้นเป็นประเทศราชของราชอาณาจักรเลอน อาฟงซูน่าจะคอยดูสถานการณ์อยู่ และเมื่อเตเรซาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1131 พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 แห่งเลออนและกัสติยาเรียกร้องให้อาฟงซูซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องถวายคำสัตย์ปฏิญาณว่าจะเป็นข้าราชบริวารของพระองค์ ในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1129 อาฟงซู เอ็งรีกึชประกาศตนเป็นเจ้าชายแห่งโปรตุเกสหรือเจ้าชายของชาวโปรตุเกส อาจจะด้วยพระองค์มีสิทธิ์ตามสายเลือด จากการเป็นหนึ่งในสองพระนัดดาของจักรพรรดิแห่งฮิสปาเนีย
หลังจากนั้นอาฟงซูสะบัดธงรบเพื่อจบปัญหายืดเยื้อกับชาวมัวร์ที่อยู่ทางตอนใต้ พระองค์ประสบความสำเร็จในการสู้รบ ในวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1139 พระองค์ได้รับชัยชนะท่วมท้นในสมรภูมิโอรีกือและประกาศตนเป็นกษัตริย์แห่งโปรตุเกส
กษัตริย์แห่งโปรตุเกส
[แก้]แม้จะเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์จากพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 แห่งเลออนแล้ว แต่โปรตุเกสยังต้องการการยอมรับจากดินแดนข้างเคียง, จากคริสตจักรคาทอลิก และจากสมเด็จพระสันตะปาปา ว่ามีสถานะเป็นราชอาณาจักร พระเจ้าอาฟงซูอภิเษกสมรสกับมาฟัลดาแห่งซาวอย บุตรสาวของอามาเดอุสที่ 3 เคานต์แห่งซาวอย และส่งราชทูตไปโรมเพื่อเจรจากับสมเด็จพระสันตะปาปา ทรงหลุดพ้นจากการเป็นประเทศราชของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 แหงเลออนผู้เป็นลูกพี่ลูกน้อง และกลายเป็นข้าราชบริวารของสมเด็จพระสันตะปาปาแทน เหมือนเช่นกษัตริย์แห่งซิซิลีและกษัตริย์แห่งอารากอนที่เป็นก่อนพระองค์
พระองค์สร้างอารามและคอนแวนต์หลายแห่งในโปรตุเกส ที่โดดเด่นคืออารามอัลกูบาซา ในปี ค.ศ. 1143 มีพระราชสาสน์ถึงสมเด็จพระสันตะปาปาอินโซเซนต์ที่ 3 ประกาศว่าพระองค์และราชอาณาจักรเป็นข้าของศาสนจักร ทรงสาบานว่าเดินหน้าขับไล่ชาวมัวร์ออกจากคาบสมุทรไอบีเรียต่อไป ในปี ค.ศ. 1147 ทรงพิชิตซังตาไรและลิสบอน[6] ทั้งยังพิชิตพื้นที่สำคัญทางตอนใต้ของแม่น้ำเทกัส แม้ชาวมัวร์จะยึดคืนไปได้ในปีต่อมา
ขณะเดียวกันพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 แห่งเลออน ลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าอาฟงซูมองการประกาศอิสรภาพของโปรตุเกสเป็นเพียงการก่อกบฏ ความขัดแย้งระหว่างสองอาณาจักรเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหนึ่งปีต่อมา พระเจ้าอาฟงซูเข้าร่วมทำสงครามอยู่ฝั่งเดียวกับราชอาณาจักรอารากอน เป็นศัตรูกับราชอาณาจักรกัสติยา เพื่อเป็นการผนึกสัมพันธไมตรี ซังชู พระโอรสของพระองค์ถูกจับหมั้นหมายกับด็อลเซ น้องสาวของเคานต์แห่งบาร์เซโลนาและเป็นอินฟันตาแห่งอารากอน สุดท้ายหลังคว้าชัยที่สมรภูมิวัลดือเวช สนธิสัญญาซาโมรา (ค.ศ. 1143) ทำให้ลูกพี่ลูกน้องทั้งสองคืนดีกัน และราชอาณาจักรเลออนยอมรับว่าโปรตุเกสคือราชอาณาจักรที่มีกษัตริย์ปกครอง
ในปี ค.ศ. 1169 พระเจ้าอาฟงซูในวัยชราไม่สามารถสู้รบใกล้กับบาดาโฆซได้เนื่องจากตกจากหลังม้า และถูกทหารของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งเลออน ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระชามาดาจับตัวเป็นนักโทษ โปรตุเกสเสียค่าไถ่ตัวพระองค์เป็นดินแดนเกือบทั้งหมดที่พระเจ้าอาฟงซูพิชิตมาจากราชอาณาจักรกาลิเซีย (ทางตอนเหนือของแม่น้ำมิญญู) เมื่อปีก่อน[6] ในปี ค.ศ. 1184 อะบู ยะอ์กูบ ยูซุฟ กาหลิบของกลุ่มอัลโมฮัด ยกทัพใหญ่มาตอบโต้การรุกรานของโปรตุเกส เนื่องจากสนธิสัญญาพักรบห้าปีได้สิ้นสุดไปเมื่อปี ค.ศ. 1178 กลุ่มอัลโมฮัดปิดล้อมโจมตีซังตาไรที่มีซังชู ทายาทของพระเจ้าอาฟงซูปกป้องเมืองอยู่ การปิดล้อมของกลุ่มอัลโมฮัดล้มเหลวเมื่อได้ทราบข่าวว่าอัครมุขนายกแห่งกอมโปสเตลาเดินทางมาคุ้มครองเมืองและพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งเลออนได้ยกทัพมาด้วยพระองค์เอง กลุ่มอัลโมฮัดล้มเลิกการปิดล้อมและถอยทัพกลับไปเนื่องจากเกิดความแตกตื่นในค่ายทหาร กาหลิบของกลุ่มอัลโมฮัดได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับเซบิยา หลังจากนั้นไม่นานพระเจ้าอาฟงซูสิ้นพระชนม์ในวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1185 ด้วยพระชนมายุ 76 พรรษา ครองราชย์ได้ 46 ปี ชาวโปรตุเกสยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษ ทั้งจากอุปนิสัยส่วนตัวและจากการเป็นผู้ก่อตั้งชาติ[6]
พระโอรสธิดา
[แก้]ในปี ค.ศ. 1146 พระเจ้าอาฟงซูอภิเษกสมรสกับมาฟัลดา บุตรสาวของอามาเดอุสที่ 2 เคานต์แห่งซาวอยกับมาโอแห่งอาลบง มีพระโอรสธิดาด้วยกัน คือ[7]
- เอ็งรีกึ (5 มีนาคม ค.ศ. 1147 – ค.ศ. 1155)[8][9] ตั้งชื่อตามอ็องรี เคานต์แห่งโปรตุเกส (พระอัยกาทางฝั่งพระบิดา) สิ้นพระชนม์ขณะพระชนมายุ 8 พรรษา
- อูร์รากา (ค.ศ. 1148–1211)[10][11] อภิเษกสมรสกับพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งเลออน และเป็นพระมารดาของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 ต่อมาการแต่งงานถูกประกาศให้เป็นโมฆะในปี ค.ศ. 1171 หรือ 1172 พระองค์เกษียณตัวไปอยู่ที่ซาโมรา ตามด้วยอารามซานตามาริอาในวัมบา ใกล้บายาโดลิด ร่างของพระองค์ถูกฝังที่อารามดังกล่าว[12]
- ตึเรซา (ค.ศ. 1151–1218)[10][13] เป็นเคาน์เตสคู่สมรสแห่งฟลานเดอส์จากการแต่งงานกับฟีลิปที่ 1 เคานต์แห่งฟลานเดอส์[14] และเป็นดัชเชสคู่สมรสแห่งบูร์กอญจากการแต่งงานครั้งที่สองกับเอิดที่ 3 แห่งบูร์กอญ[11]
- มาฟัลดา (ค.ศ. 1153[10][9] – หลังปี ค.ศ. 1162) ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1160 พระบิดาของพระองค์กับราโมน บารังเกที่ 4 เคานต์แห่งบาร์เซโลนา เจรจาเรื่องการแต่งงานของมาฟัลดากับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 2 แห่งอารากอน[8][15] ซึ่งขณะนั้นพระชนมายุ 3 หรือ 4 พรรษา หลังราโมน บารังเกที่ 4 เสียชีวิตในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1162 พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งเลออนโน้มน้าวพระราชินีเปโตรนิยา ภรรยาม่ายของราโมน บารังเก ให้ล้มเลิกแผนการแต่งงานของมาฟัลดากับพระเจ้าอัลฟอนโซ เพื่อให้พระเจ้าอัลฟอนโซอภิเษกสมรสกับซันชา พระธิดาของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 แห่งเลออนกับพระมเหสีคนที่สอง รึกซาแห่งโปแลนด์ แทน[16] มาฟัลดาสิ้นพระชนม์ในวัยเด็กโดยไม่มีการบันทึกวันสิ้นพระชนม์ไว้
- ซังชู พระเจ้าซังชูที่ 1 แห่งโปรตุเกสในอนาคต (11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1154[9] – 26 มีนาคม ค.ศ. 1211) ทรงได้รับการทำพิธีศีลล้างบาปด้วยชื่อมาร์ติง จากการเสด็จพระราชสมภพในวันเฉลิมฉลองของนักบุญมาร์แต็งแห่งตูร์[10]
- ฌูเอา (ค.ศ. 1156 – 25 สิงหาคม ค.ศ. 1164)[17]
- ซังชา (ค.ศ. 1157 – 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1166/1167) ประสูติสิบวันก่อนการสิ้นพระชนม์ของพระมารดา ซังชาสิ้นพระชนม์ก่อนพระชนมายุ 10 พรรษา[18][9] ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Haydn, Joseph (1860). A dictionary of dates relating to all ages and nations: for universal reference; comprehending remarkable occurrences, ancient and modern, the foundation, laws, and governments of countries, ... and particularly of the British Empire. By Joseph Haydn (ภาษาอังกฤษ). Edward Moxon, Dover Street. p. 527.
- ↑ Mattoso 2014, p. 34.
- ↑ Gerli, E. Michael. Medieval Iberia, Routledge, 2013ISBN 9781136771613
- ↑ Gerli, E. Michael. Medieval Iberia, Routledge, 2013ISBN 9781136771613
- ↑ Gerli, E. Michael. Medieval Iberia, Routledge, 2013ISBN 9781136771613
- ↑ 6.0 6.1 6.2 One or more of the preceding sentences incorporates text from a publication now in the public domain: Hannay, David (1911). "Alphonso s.v. Alphonso I.". In Chisholm, Hugh. Encyclopædia Britannica. 1 (11th ed.). Cambridge University Press. p. 733.
- ↑ Mattoso 2014, pp. 226–227.
- ↑ 8.0 8.1 Caetano de Souza 1735, p. 60.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 Rodrigues Oliveira 2010, p. 71.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 Mattoso 2014, p. 226.
- ↑ 11.0 11.1 Rodrigues Oliveira 2010, p. 79.
- ↑ Arco y Garay 1954, p. 168.
- ↑ Rodrigues Oliveira 2010, p. 80.
- ↑ Mattoso 2014, pp. 372–373.
- ↑ Rodrigues Oliveira 2010, p. 78.
- ↑ Mattoso 2014, pp. 287–288, 290.
- ↑ Mattoso 2014, p. 227.
- ↑ Mattoso 2014, pp. 227, 383.